'แนวทางการตลาดเชิงรุก' สหกรณ์ที่มีโรงสีข้าว
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 51
'แนวทางการตลาดเชิงรุก' สหกรณ์ที่มีโรงสีข้าว
ข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย และยังเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยประเทศไทยเองนั้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ดีแม้ว่าไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่มิได้เป็นผู้กำหนดราคาข้าว การเปลี่ยน แปลงของราคาเป็นไปตามกลไกราคาตลาด ซึ่งมีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ด้วย ดังนั้นปัญหาราคาข้าวที่ไม่มีเสถียรภาพ ยังเป็นปัญหาที่ประเทศต้องประสบเสมอมา
ปริมาณผลผลิตข้าวนั้นส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับภาวะการส่งออกข้าวเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาข้าวของประเทศ ซึ่งค่อนข้างผันผวนและส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงสีข้าวโดยตรง ทำให้ภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้
จากข้อมูลการแปรรูปข้าวของสหกรณ์ปี 2550 ที่ผ่านมามีปริมาณการแปรรูปรวม 100,707 ตันข้าวเปลือก มูลค่า 751.755 ล้านบาท ได้ปริมาณข้าวสารรวม 65,880 ตัน มูลค่า 1,226 ล้านบาท จำหน่ายข้าวสารได้ 43,393 ตัน มูลค่า 807,557 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการจำหน่ายข้าวสารของสหกรณ์ให้กับพ่อค้า คิดเป็นร้อยละ 42.41 ผู้บริโภคโดยตรง ร้อยละ 30.53 สหกรณ์อื่น ร้อยละ 14.88 ห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 6.49 และผู้ส่งออก ร้อยละ 5.70
สหกรณ์การเกษตร นับว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและแปรรูปข้าว รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ มีการเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรสหกรณ์ที่มีโรงสีข้าว อบรมเพิ่มความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการธุรกิจ ประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและของเสียเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากระบวนการจัดการโรงสีข้าว การปรับปรุงวิธีการทำงานด้านโรงสี (On the job training) อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่คุณภาพข้าวที่มีผลต่อการสีข้าว กระบวนการสีข้าว ปัจจัยที่มีผลต่อการกะเทาะข้าวเปลือกและการขัดข้าวขาว เทคนิคการสีข้าว และการดูแลรักษาโรงสี การบริหารจัดการโรงสีข้าวสมัยใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุ ภัณฑ์ให้แก่สหกรณ์ที่มีโรงสีข้าว รวมถึงการพัฒนาโรงสีข้าวของสหกรณ์เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP/ISO ให้แก่สหกรณ์ในเขตพื้นที่โครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ สหกรณ์ที่จำหน่ายข้าวให้บริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด และสหกรณ์ที่มีโรงสีข้าวที่มีศักยภาพในการผลิตและการจำหน่ายข้าวสาร เป็นต้น ซึ่งจะมีการขยายผลไปยังสหกรณ์อื่น ๆ
และเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ด้านการจัดการโลจิสติกส์ธุรกิจข้าว การเพิ่มสมรรถนะการจัดการธุรกิจโรงสีข้าว และกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ เครือข่ายความสัมพันธ์ และพันธมิตรทางธุรกิจให้แก่สหกรณ์ที่มีโรงสีข้าว ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจโรงสีข้าวและการตลาดข้าวให้กับผู้จัดการสหกรณ์ที่มีโรงสีข้าวเพื่อให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รวมทั้งประสบการณ์ต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจโรงสีและการตลาดในลักษณะเชิงรุกที่เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างเห็นเป็นรูปธรรม
นายปริญญา เพ็งสมบัติ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวทางการตลาดเชิงรุกของสหกรณ์ที่มีโรงสีข้าวจะช่วยให้ผู้จัดการสหกรณ์ที่มีธุรกิจโรงสีข้าวหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้เพิ่มในด้านการเพิ่มสมรรถนะการจัดการโรงสีข้าว การจัดการด้านโลจิสติกส์ธุรกิจข้าว โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประสบการณ์ต่าง ๆ ในการทำธุรกิจโรงสีและการตลาดข้าวของสหกรณ์
“คาดว่าการพัฒนาธุรกิจโรงสีข้าว ในแนวทางการตลาดเชิงรุกของสหกรณ์ที่มีโรงสีข้าวนั้น จะทำให้สหกรณ์ที่มีโรงสีข้าวได้พัฒนาการจัด การและการตลาดธุรกิจโรงสีข้าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดเครือข่ายการเรียนรู้ เครือข่ายความสัมพันธ์ และพันธมิตรทางธุรกิจของสหกรณ์ ที่มีโรงสีข้าว โดยสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์เองก็จะได้มีแนวทางในการพัฒนาธุรกิจการตลาดข้าวที่ยั่งยืนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมต่อไปได้” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=179097&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น