กรมวิชาการเกษตรกับบทบาทในการแก้ปัญหาโรคใบขาวอ้อย
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 51
กรมวิชาการเกษตรกับบทบาทในการแก้ปัญหาโรคใบขาวอ้อย
"
อ้อย” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย แต่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาภาคการผลิตอย่างรุนแรง เนื่องจากพบการระบาดของ “
โรคใบขาวอ้อย” เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่พบการระบาดอย่างรุนแรงเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ขณะนี้กลับพบการระบาดโรคดังกล่าวในพื้นที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ล่าสุดนักวิชาการเกษตรพบการระบาดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างแถบ จ.อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ประมาณ 30,000 ไร่ และยังพบการระบาดในพื้นที่ภาคกลาง ใน จ.กาญจนบุรี และนครปฐมอีกด้วย
นายอลงกรณ์ กรณ์ทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้การระบาดของโรคใบขาวอ้อยรุนแรงมากขึ้น น่าจะมาจาก 3 ประเด็นหลัก คือ พฤติกรรมของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่เร่งขยายพื้นที่ปลูก หลังราคาอ้อยปรับตัวดีขึ้นอยู่ราว 700-800 บาท/ตัน โดยนำท่อนพันธุ์อ้อยมาจากหลายแหล่งเพื่อปลูกในแปลงของตนเอง โดยไม่ได้สืบประวัติพื้นที่ปลูกเดิมว่ามีการระบาดของโรคหรือไม่
ในขณะเดียวกันมีระบบการจัดการแปลงที่ไม่ดีเท่าที่ควร ประเด็นที่สอง คือ ท่อนพันธุ์อ้อยไม่ปลอดโรค และมีการติดเชื้อโดยไม่สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า ถึงแม้จะสามารถพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบหาท่อนพันธุ์อ้อยที่ติดเชื้อได้แล้ว แต่ยังมีราคาสูงเฉลี่ยตัวอย่างละ 500 บาท และประเด็นสุดท้าย คือ อ้อยที่ติดเชื้อจะมีลักษณะอาการอมโรค ถ้ามีระบบการจัดการที่ดี สภาพแวดล้อมเหมาะสม อ้อยจะไม่แสดงอาการของโรค หากเมื่อใดสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ต้นอ้อยอ่อนแอ จะแสดงอาการของโรคทันที
อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยพืชไร่ ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้ดำเนินโครงการวิจัยอ้อยเพื่อแก้ปัญหาโรคใบขาวมาตั้งแต่ปี 2549 และยังคงดำเนินการวิจัยต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังได้จัดประชุมเสวนาร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล อาทิ โรงงานอ้อย สมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย เป็นต้น เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้คณะผู้บริการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาแล้ว
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่า โรคใบขาวอ้อย เป็นโรคระบาดที่น่ากลัว และถือเป็นปัญหาระดับประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรให้ความเอาใจใส่ดูแลอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะหากเกิดการระบาดมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอ้อยโดยตรง ขณะที่ภาคการวิจัยกรมวิชาการเกษตรและสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ร่วมมือกันบูรณาการงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วพบว่ามีเทคนิคตรวจสอบหาท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อได้ โดยจะเร่งพัฒนาเทคนิคดังกล่าวต่อไป ให้ประหยัดและสะดวกมากขึ้น
อีกทั้งจะดำเนินการวิจัยศึกษาระบบนิเวศวิทยาและวงจรชีวิตของแมลงเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล ที่เป็น พาหะนำโรคโดยเร็ว ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดส่งทีมนักวิชาการเกษตรลงแปลงของเกษตรกรที่มีการระบาดของโรคแล้ว เพื่อดำเนินการเก็บตัวอย่างแมลงในพื้นที่ นอกจากนั้น เพื่อให้ท่อนพันธุ์อ้อยที่ปลอดโรคอย่างแท้จริง จะใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในการผลิตท่อนพันธุ์ที่ปลอดโรคแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=51727&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น