เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 51
ในกลุ่มแรกคนที่ทำเกษตรแล้วจน ส่วนใหญ่เป็นเพราะว่าขาดความรู้ และขาดเงินลงทุน ส่วนในกลุ่มที่สองมีเงินลงทุน แต่ก็ยังขาดความรู้ด้านการเกษตร แต่ว่ามักจะมีความรู้ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องการบริหารจัดการ
และกลุ่มหลังนี้เอง หากตั้งใจทำจริงๆ แล้วมักจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นการทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องความสามารถในการบริหารจัดการ หากต้องการทำเป็นธุรกิจใหญ่ แต่หากทำเพื่อการเลี้ยงตัวเอง ก็คงต้องมีทั้งความรู้ด้านการเกษตรและความรู้ด้านการบริหารจัดการควบคู่ไปด้วย
การเรียนการสอนในวิทยาลัยเกษตรส่วนใหญ่มุ่งที่การให้ความรู้ด้านการเกษตร แต่สิ่งที่ขาดอย่างมากคือความรู้ด้านการจัดการ วิธีการสอนก็ยังคงเป็นการสอนให้รู้เนื้อหาเป็นเรื่องๆ ไป แต่ยังไม่สามารถทำให้เด็กที่เรียนนำมาเชื่อมโยงจนนำไปประกอบอาชีพได้ ผลก็คือเด็กเหล่านั้นเมื่อจบออกไปก็ไปหางานอื่นที่ไม่ใช่งานเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือไปเป็นลูกจ้างในโรงงานบ้าง หรือหาทางไปเรียนต่อสูงๆ ตามความเชื่อว่าเป็นเส้นทางไปสู่การเป็นเจ้าคนนายคนอย่างที่เคยได้รับการบอกมา ดังนั้นหากจะสร้างเกษตรกรให้มีความเป็นมืออาชีพ ตามรูปแบบที่เกษตรกรยุคใหม่ควรจะเป็น ก็คงต้องปรับเปลี่ยนที่ระบบการเรียนการสอนของวิทยาลัย และตัวอาจารย์เองก่อนเป็นจุดเริ่มต้น
สิ่งหนึ่งที่ท้าทายก็คือ หากจะให้เด็กที่จบจากวิทยาลัยเกษตรฯ หันมาประกอบอาชีพการเกษตรให้ได้ ก็ต้องสอนให้เด็กสามารถทำรายได้จากที่ดินที่มีอยู่ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ หากยังไม่มีที่ดินเริ่มต้นก็ได้รับความร่วมมือจาก ส.ป.ก.ในการจัดสรรให้เด็กที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการคนละ 3-5 ไร่ เพราะว่าที่ดินเมืองไทยก็มีจำกัด โจทย์คือทำอย่างไรจึงจะสร้างรายได้จากที่ดิน 3-5 ไร่นี้ให้พอเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร คำถามต่อไปก็คือรายได้ขนาดไหนจึงจะพอ
ลองคิดดูว่า ถ้าเด็กจบอาชีวศึกษาออกมาแล้ว สามารถสร้างรายได้ขั้นต่ำเท่าเงินเดือนปริญญาตรี ก็คงจะดึงเด็กเหล่านั้นให้อยู่ในเส้นทางอาชีพนั้นได้ ดังนั้นหากสามารถสอนเด็กวิทยาลัยเกษตรฯ ให้จบออกไปและมีที่ดินคนละ 3-5 ไร่ แต่สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 8-9 หมื่นบาท ก็น่าจะอยู่ได้ โดยไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร แต่ทำอย่างไรจึงจะมีรายได้ขนาดนั้นได้ คำตอบก็คือการสอนของวิทยาลัยเกษตรฯ ต้องเปลี่ยนอย่างพลิกฝ่ามือ
นั่นคือแทนที่จะสอนโดยเอาพืชหรือสัตว์ตามที่อาจารย์มีความเชี่ยวชาญเป็นตัวตั้ง ก็คงต้องเอาตลาดและการจัดการมาเป็นจุดเริ่มต้นแทน แล้วสอนเด็กให้คิดเป็นว่าควรเลือกพืชหรือสัตว์ชนิดใดมาปลูกหรือมาเลี้ยง ต้องรู้ว่าเมื่อผลิตแล้วจะขายใคร ตลาดอยู่ที่ไหน ความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร ต้องรู้ต้นทุนและกำไร แล้วจึงนำมาสู่การเลือกพืชที่จะปลูกหรือสัตว์ที่จะเลี้ยง
จากนั้นอาจารย์จึงสอนเทคโนโลยีการปลูกการเลี้ยง ซึ่งน่าจะสำคัญน้อยกว่าเรื่องความสามารถในการจัดการ หากทำอย่างนี้ได้ เราก็จะมีเกษตรกรยุคใหม่ที่มีความเป็นมืออาชีพ คือเป็นคนที่ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และเป็นผู้นำคนอื่น ไม่ใช่ผู้ตามอีกต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 13 ตุลาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/10/13/x_agi_b001_225514.php?news_id=225514