เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 51
ช่วงระยะหลายปีมานี้ การเลี้ยง “ไก่พื้นบ้าน” ในแต่ละภูมิภาคของไทย เป็นลักษณะ “ปล่อยอย่างยถากรรม อยู่ตามธรรมชาติ” ทำให้บางครั้งเจ้าของยังไม่รู้ว่า “เป็นลูกใครหว่า”
เพื่ออนุรักษ์ให้เกิดฝูงต้นพันธุ์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงทำการศึกษาวิจัย คัดเลือกสายพันธุ์ให้มีความเหมาะสมสำหรับส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงในแต่ละภูมิภาคทั้ง เหนือ อีสาน กลาง และ ใต้
และพื้นที่ทางภาคเหนือ ได้ยกเอา “ประดู่หางดำ” ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองดั้งเดิมของไทยเรา ที่นิยมเลี้ยงตามหมู่บ้านในแถบภาคเหนือ ซึ่งในระยะหลังๆเริ่มมีจำนวน “ลดน้อยถอยลง” มาเป็นพระเอก เพื่อพัฒนากระทั่งได้สายพันธุ์ใหม่คือ “ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ 1”
นายชาตรี ประทุม ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ บอกกับ “หลายชีวิต” ว่า เพื่อดำรงคงไว้ซึ่งสายพันธุ์ไทย กรมจึงเริ่มผสมและคัดพันธุ์ตั้งแต่ปี 2545-2551 (ชั่วที่ 7) ที่ขณะนี้สายพันธุ์เริ่มนิ่ง
โดย เพศผู้ มีลักษณะใบหน้าสีแดงถึงอมดำ หงอนถั่ว ปาก แข้ง ขนลำตัว รวมทั้งขนหางสีดำ สร้อยคอสีแดงประดู่ ส่วนเพศเมีย ทั่วไปจะเหมือนเพศผู้เพียงแต่ไม่มีขนสร้อยคอ เริ่มจับคู่เมื่ออายุเฉลี่ยที่ 189 วัน ออกไข่สูงสุดอยู่ที่ 40 ฟอง/แม่/ปี และยังมีความรับผิดชอบที่จะฟักไข่เอง
ฉะนี้เพื่อให้อัตราการรอดสูง ผู้เลี้ยงควรหาวัสดุรองรังไข่ที่สะอาด ซึ่งอาจใช้สมุนไพรพื้นบ้านเช่น ยาเส้น ใบน้อยหน่า ใบตะไคร้ มาใช้รองรังไข่ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิด “ไรไก่” หลัง “ลูกเจี๊ยบ” ฟักออกมาแล้ว ช่วงนี้แม่ค่อนข้างดุ และหวงลูกหากมีใครหรือแม้แต่ตัวผู้เข้าใกล้ เธอก็จะกลายเป็น “จอมโวยวาย” กางปีกร้องเสียงหลงและยัง “ไล่จิกชนิดไม่คิดชีวิต” เชียวล่ะ
กระทั่ง 2 เดือน ถึงเริ่มออกห่างฝูงลูก เพื่อมีเวลา “เหล่” เพศตรงข้าม พร้อมกับหวนมาปฏิบัติ “ภารกิจเพิ่มประชากร” อีกครั้ง ช่วงนี้จะให้ รำ ปลายข้าว หรือ อาหารสำเร็จรูป เพื่อ ให้แม่ลูกสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และหากลูกเจี๊ยบบางตัวได้รับบาดเจ็บ ควรใช้ยาม่วง หรือเขม่าดำๆที่ติดก้นหม้อทาปิดป้องกัน เพราะโดย “ธรรมชาติพวกมันจะชอบสีแดง” ที่เห็นไม่ได้เป็นต้อง “ไล่จิก”
สำหรับอัตราการเจริญเติบโต เมื่อเทียบที่อายุเท่ากันกับไก่พื้นเมืองทั่วไป พระเอกใหม่ประดู่หางดำ จะโตเร็วกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป 10-25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผิวหนังสีเหลือง เนื้อนุ่มไม่เหนียว ซึ่งทางกรมได้เริ่มทดลองวางตลาดเจาะกลุ่มผู้บริโภค ผลที่ได้พบว่าคนในพื้นที่ให้ความสนใจ ตลาดให้การยอมรับกันมาก
ส่วนจะชน ตีเก่ง หรือไม่นั้น มันขึ้นอยู่ที่การฝึกของ 'นักเลง' ไก่แต่ละคน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 ตุลาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=107573