เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 51
ผลผลิตต่อไร่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ปัญหาสำคัญ คือความแปรปรวนของฝน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การดูแลรักษายังทำได้ไม่ถูกต้อง รวมทั้งปัญหาโรค แมลง วัชพืช และการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาท็อกซิน ดังนั้นจึงต้องนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเป็นถั่วขนาดเมล็ดเล็ก ไม่เหมาะกับการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าสูง
ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองเห็นว่าเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจน การแก้ปัญหาเหล่านี้จะต้องมีงานวิจัยมาช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเกษตรกร จึงได้ดำเนินงานวิจัยพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการผลิตถั่วลิสงของไทย ควบคู่กันไปกับการปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสง โดยเฉพาะถั่วลิสงชนิดเมล็ดโต ที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปมีมูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
"ทีมงานได้ปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโต พันธุ์ขอนแก่น 60-3 ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น และถั่วลิสงพันธุ์ มข. 72-1 และ มข. 72-2 ซึ่งพันธุ์เหล่านี้เกษตรกรนำไปปลูกบ้างแล้ว ทำให้เกษตรกรมีผลิตผลที่ดีขึ้น และยังได้เชื่อมโยงการปลูกกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทั้งระดับชุมชนระดับอุตสาหกรรม จนปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์แปรรูปถั่วลิสงเมล็ดจำหน่ายตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อุตสาหกรรม และการส่งออก แต่พันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโตเหล่านี้ยังมีข้อด้อย คือ อายุค่อนข้างยาว (ประมาณ 130 วัน) ลำต้นกึ่งเลื้อย และฝักสุกแก่ไม่พร้อมกัน" หัวหน้าทีมวิจัย กล่าว
ศ.ดร.อารันต์ กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยจึงได้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโตอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้พันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโตที่อายุสั้นเท่าๆ กับพันธุ์เมล็ดเล็ก (ประมาณ 110 วัน) ลำต้นไม่เลื้อย และฝักสุกแก่ใกล้เคียงกัน คือพันธุ์ มข. 60 ซึ่งเผยแพร่ออกสู่เกษตรกรแล้วเช่นกัน ปัจจุบันกำลังปรับปรุงพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยเน้นให้มีกรดโอเลอิกสูงและมีกรดลิโนเลอิกต่ำ ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคความดัน โรคหัวใจ
นอกจากการปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโตแล้ว ทีมวิจัยของ ศ.ดร.อารันต์ ยังทำวิจัยพื้นฐานสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานต่อความแห้งแล้ง โดยศึกษาช่วงเวลาและความถี่การกระทบแล้งของถั่วลิสงในแหล่งต่างๆ ความเสี่ยงต่อการเกิดสารอะฟลาท็อกซิน การตอบสนองทางสัณฐานวิทยา สรีรวิทยาของพันธุ์ต่อการกระทบแล้ง กลไกการทนแล้งของพันธุ์ เทคนิคคัดเลือกพันธุ์ทนแล้ง ฯลฯ
ศ.ดร.อารันต์ กล่าวอีกว่า การปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาท็อกซินเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของถั่วลิสงและความปลอดภัยของผู้บริโภค เนื่องจากถั่วลิสงที่กระทบแล้งจะมีการปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาท็อกซินสูง การปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงให้ทนแล้งจึงมิใช่มีเป้าหมายเพื่อลดความเสียหายจากความแห้งแล้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่การลดปัญหาปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 14 ตุลาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/10/14/x_agi_b001_225840.php?news_id=225840