กำจัดศัตรูพืชอย่างยั่งยืน ปลอดภัย และลดต้นทุนการผลิตข้าว
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 51
กำจัดศัตรูพืชอย่างยั่งยืน ปลอดภัย และลดต้นทุนการผลิตข้าว
การระบาดของศัตรูพืช การใช้สารเคมีไม่ถูกต้องเกินความจำเป็น เป็นปัญหาสำคัญทางการเกษตรที่ทำให้การผลิตข้าวไม่ได้ปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น สาเหตุเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในการกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ฉะนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมี โครงการนำร่องจัดการศัตรูพืชชุมชน ปี 2551 ขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะดำเนินการมาเพียง 2-3 เดือน แต่ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นวิธีการที่เกษตรกรมีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจร่วมกัน ตั้งแต่การสำรวจศัตรูพืช เตือนภัย รวมทั้งการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นจริงจากพื้นที่ของเกษตรกรเอง โดยที่โครงการนำร่องจัดการศัตรูพืชชุมชนฯ ได้ดำเนินการในพื้นที่นาข้าวใน 5 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และ สุพรรณบุรี ในพื้นที่ 30 อำเภอ โดยมีการดำเนิน 3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมการเฝ้าระวังศัตรูพืช, การเตือนภัยการระบาดของศัตรูพืช และ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ชี้แจงเกี่ยวกับ กิจกรรมการเฝ้าระวังศัตรูพืช ว่า ใน 30 อำเภอ เป้าหมายจะต้องจัดทำแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืช อำเภอละ 1 แปลง และจัดการอบรม การสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชให้แก่เจ้าหน้าที่ของแต่ละอำเภอ อำเภอละ 6 คน ประกอบด้วย อาสาสมัครเกษตร 4 คน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล 1 คน เจ้าหน้าที่ อบต. 1 คน หลังจากนั้นผู้ที่ผ่านการอบรม จะเป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้การสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชให้แก่เกษตรกรข้างเคียงรวมทั้งจะต้องเก็บข้อมูลสถานการณ์ศัตรูพืชจากแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูข้าว สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตลอดฤดูการเพาะปลูก โดยข้อมูลที่เก็บได้ในแต่ละสัปดาห์ เช่น ชนิดศัตรูพืช ศัตรูธรรมชาติ สภาพอากาศ ฯลฯ นำมาจำแนก วิเคราะห์และตัดสินใจร่วมกัน ถ้ามีแนวโน้มการระบาดจะมีการเตือนภัยในพื้นที่เป็นอันดับแรก แล้วส่งข้อมูลในแต่ละสัปดาห์ให้สำนักงานเกษตรอำเภอ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เตือนภัยระดับอำเภอ จากนั้นพิมพ์ข้อมูลในระบบสารสนเทศตามโปรแกรมระบบรายงานแปลงติดตาม สถานการณ์ศัตรูพืชภายในวันศุกร์ เพื่อให้จังหวัด ศูนย์บริหารศัตรูพืช สำนักงานงานส่งเสริมการเกษตรเขต รวมถึงกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถเปิดดูรายงานและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
สำหรับกิจกรรมการเตือนภัยนั้น จังหวัดจะจัดทำข่าวเตือนภัยการระบาดของศัตรูพืช โดยนำข้อมูลที่ได้จากพื้นที่โดยตรงมาประมวลวิเคราะห์ ถ้ามีแนวโน้มการระบาดก็จะเตือนภัยการระบาดผ่านสื่อต่าง ๆ ในทุกระดับ เช่น ในระดับตำบล เผยแพร่ผ่านหอกระจายข่าว ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล ระดับอำเภอ เผยแพร่ผ่านการประชุมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ทางสื่อวิทยุและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รวมทั้งการเผยแพร่ในระดับจังหวัด เช่น การประชุมประจำเดือนของจังหวัด หรือทางหนังสือพิมพ์ ฯลฯ
ส่วนกิจกรรมการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานนั้น ได้จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนนำร่อง จำนวน 246 ศูนย์ เป็นสถานที่เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติสามารถเป็นผู้จัดการศัตรูพืชได้ โดยจัดอบรมอาสาสมัครเกษตรกร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลและเจ้าหน้าที่ อบต. ศูนย์ละ 6 คน รวม 1,455 คน ในการผลิตขยายชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย ไตรโครเดอร์ม่า สารสกัดจากพืชสมุนไพร วิธีการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานและอื่น ๆ ตามความต้องการของเกษตรกรโดยมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเกษตร ที่ผ่านการอบรมแล้วทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในชุมชนที่มีปัญหาการระบาดศัตรูพืช หรือต้องการมีความรู้ในการผลิตขยาย ชีวภัณฑ์ เพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมต่อไป ทั้งนี้หากมีปัญหาการระบาดของศัตรูข้าวในพื้นที่กว้างขวาง ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนทั้ง 246 ศูนย์ จะช่วยกันสนับสนุนการผลิตชีวภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของศัตรูข้าวได้อีกทางหนึ่งด้วย
การดำเนินโครงการนำร่องจัดการศัตรูพืชชุมชนจะทำให้เกษตรกรและชุมชนสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวให้แก่เกษตรกรและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2552 จะมีการขยายการดำเนินงานโครงการนี้ไปให้ครอบคลุมในทุกภาคของประเทศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=179581&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น