เกษตรกรกว่าแสนรายผ่านมาตรฐาน GAP เกษตรฯเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 51
เกษตรกรกว่าแสนรายผ่านมาตรฐาน GAP เกษตรฯเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่อง
ปัจจุบันพฤติกรรมและแนวโน้มของผู้บริโภคสินค้าเกษตรและอาหารทั้งในประเทศและทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยทุกประเทศได้ให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากสารเคมี สารพิษ และการปนเปื้อนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทย เกษตรกรได้ตื่นตัวและหันมาผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้คุณภาพมาตรฐานมีความปลอดภัยมากขึ้นตามความต้องการของตลาด
ขณะนี้มีเกษตรกรได้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) และโครงการการผลิตสินค้าประมงและปศุสัตว์ ที่ปลอดภัยและรักษาสภาพแวดล้อมจำนวนมาก ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรณรงค์ให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต การแปรรูป และตลาดสินค้าเกษตรและอาหารให้มีคุณภาพได้มาตรฐานความปลอดภัยตรงตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ในรอบ 6 เดือน ของปี 2551 ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ พบว่า ในระดับต้นน้ำ มีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว จำนวน 161,852 ราย ระดับกลางน้ำ มีโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จำนวน 650 ราย และโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน HACCP จำนวน 71 ราย ส่วนระดับปลายน้ำ มีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร ที่ผ่านเกณฑ์การรับรองมาตรฐานความปลอดภัยส่งไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น จำนวน 108 ราย สหรัฐอเมริกา จำนวน 17 ราย ออสเตรเลีย 12 ราย และในสหภาพยุโรป จำนวน 162 ราย
“กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการสัมมนาเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่ออกปฏิบัติงานในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้การแนะนำแก่เกษตรกรและสหกรณ์ในเรื่องของ มาตรฐาน GAP ได้เป็นไปอย่างถูกต้องและอยู่ในแนวทางเดียวกัน เนื่องจากตลาดของสหกรณ์ในทุกวันนี้อยู่ที่ต่างประเทศเป็นปริมาณที่ไม่น้อย และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางสาว สุพัตรา กล่าว.
GAP คือการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices (GAP) หมายถึง แนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุนและกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการนี้ได้รับการกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
การนำหลักเกณฑ์ของ GAP มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practices : GAP) มีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจรับรองระบบการจัดการคุณภาพ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) โดยได้กำหนดข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และวิธีการตรวจประเมิน ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่สอดคล้องกับ GAP ตามหลักการสากลเพื่อใช้เป็นมาตรฐานการผลิตพืชในระดับฟาร์มของประเทศ รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการเพาะปลูกพืชตามหลัก GAP สำหรับพืชที่สำคัญของไทย จำนวน 24 ชนิด ประกอบด้วย
ทุเรียน ลำไย กล้วยไม้ สับปะรด ส้มโอ มะม่วง และส้มเขียวหวาน พืช ผัก มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ผักคะน้า หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี พริก ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ผักกาดขาวปลี ข้าวโพดฝักอ่อน หัวหอมปลี และหัวหอมแบ่ง กล้วยไม้ตัดดอก และปทุมมา พืชอื่น ๆ ก็มีกาแฟโรบัสต้า มันสำปะหลัง และ ยางพารา
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=179777&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น