เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 51
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2551 เป็นต้นไป สหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ Regulation (EC) 396/2005 เพื่อกำหนดปริมาณสารตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร โดย 27 ประเทศสมาชิกจะใช้ค่ากำหนดในกฎหมายฉบับนี้เป็นค่าเดียวกันและเหมือนกันทั้งหมด
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ มีชนิดของสารเคมีมากกว่า 900 ชนิด ที่อียูอนุญาตให้ใช้ในการเกษตรแต่ภายใต้กฎหมายใหม่ มีสารเคมีที่ถูกยกเลิกถึง 587 ชนิด โดยมีสารเคมีจำนวน 110 ชนิด ที่สมาชิกสามารถกำหนดชนิดและปริมาณสูงสุดของการตกค้างของสารชนิดต่างๆ ร่วมกันได้แล้ว ขณะนี้มีสารอีกจำนวน 269 ชนิด ที่อยู่ระหว่างการทบทวน และคาดว่าจะผ่านการพิจารณาอีกประมาณ 100 ชนิด ส่งผลให้จำนวนสารเคมีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการผลิตทางการเกษตรในอียูทั้งหมดมี 300 ชนิด อีกทั้งสารเคมีที่ไม่อยู่ในรายการที่กำหนด อียูจะให้ยึดปริมาณ 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นมาตรฐาน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผยอีกว่า ดังนั้นผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปยังอียู จะต้องตรวจสอบรายละเอียด ทั้งชนิดของพืช ชนิดของสารเคมี ปริมาณสารตกค้างตามที่กำหนดเพื่อจะสามารถผลิตสินค้าให้ได้ตามข้อกำหนดของอียู นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และเกษตรกร สามารถปรับตัวได้ โดยจะทำการทบทวนแนะนำการทำแปลงจีเอพี หรือวิธีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมใหม่ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของอียู และอาจจะมีการทบทวนการขึ้นทะเบียนสารเคมีให้สอดคล้องด้วยเช่นกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 16 ตุลาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/10/16/x_agi_b001_226207.php?news_id=226207