เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 51
แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงมาต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จนทำให้กระแสการตื่นตัวในการหาพลังงานทดแทนลดลงไปบ้างก็ตาม แต่แนวโน้มของราคาน้ำมันยังไม่แน่นอนมีความผันผวนค่อนข้างสูง และในอนาคตราคาอาจจะพุ่งขึ้นมาอีกก็ได้ ดังนั้นประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ และลดการพึ่งพาแหล่งพลังงาน อย่างเช่นน้ำมันจากต่างประเทศ
สำหรับพลังงานทดแทนที่มีความเป็นไปได้สูง และเหมาะกับประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทยก็คือ พลังงานทดแทนที่ได้จากพืช และพืชที่เหมาะสมที่สุดที่จะนำมาผลิตเป็นเอทานอล เพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E80 ใช้เป็นพลังงานทดแทนนั้น คือ อ้อย และ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่เกษตรกรไทยมีความชำนาญและมีพื้นที่ในการปลูกอยู่แล้ว ซึ่ง ณ วันนี้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องก็ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอ้อยและมันสำปะหลังเป็นพลังงานทดแทนขึ้นมาแล้วโดยได้วางเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตเอทานอล หรือเป็นโอเปกด้านพืชพลังงานอันดับที่ 2 รองจากประเทศบราซิล
ล่าสุดจากการเปิดเผยของ นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึง ยุทธศาสตร์การพัฒนาอ้อยและมันสำปะหลังเป็นพลังงานทดแทนว่า ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตโดยไม่เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และนำผลผลิตที่เพิ่มขึ้นไปใช้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งจะไม่ไปแย่งสัดส่วนของวัตถุดิบในการผลิตอาหาร
อ้อย และมันสำปะหลัง ในปัจจุบันนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ถ้าไม่มีการเพิ่มผลผลิตหากนำมาผลิตเป็นเอทานอลแล้วอาจจะกระทบต่อสัดส่วนในการนำไปผลิตเป็นอาหารได้ ฉะนั้นมีความเหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งการเพิ่มผลผลิตมีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ คือ การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากที่ดินเพื่อการเกษตรของประเทศมีจำนวนจำกัด จำเป็นจะต้องเลือกใช้วิธีที่สองคือ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นด้วยการใช้พันธุ์และเทคโนโลยีการปลูกที่ดีและเหมาะสม
“การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยนั้น จะต้องมีการปรับปรุงขยายพันธุ์ดีให้เพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการของเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม และการบริหารจัดการผลผลิตที่ดี ตลอดจนการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ในเรื่องมันสำปะหลังและอ้อย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว
สำหรับการเพิ่มผลผลิตนั้น ได้มีการวางเป้าหมายเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ เฉลี่ย 4.4 ตันต่อไร่ในปี 2552 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่เฉลี่ย 5.4 ตันต่อไร่ในปี 2554 ซึ่งปัจจุบันมันสำปะหลัง มีผลผลิตเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 3 ตันต่อไร่ ส่วนอ้อยมีแผนที่จะยกระดับผลผลิตในพื้นที่เป้าหมายประมาณ 1 ล้านไร่ ให้ได้ 13 ตันต่อไร่ในปี 2552 และเพิ่มเป็น 15 ตันต่อไร่ในปี 2555 จากปัจจุบันที่มีผลผลิตเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 11 ตันต่อไร่
ซึ่งรับทราบมาว่ากรมวิชาการเกษตร ขณะนี้มีความพร้อมที่จะผลักดันการเพิ่มผลผลิตอ้อย และมันสำปะหลัง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอ้อยและมันสำปะหลังเป็นพลังงานทดแทนอยู่แล้ว
สำหรับมันสำปะหลัง กรมวิชาการเกษตรมีมันสำปะหลังพันธุ์ดีหลายพันธุ์ที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ไม่ว่าจะเป็น มันสำปะหลัง พันธุ์ระยอง 5 ให้ผลผลิตสูง 4.4 ตันต่อไร่ ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูงปานกลาง แต่ทนแล้งได้ดี มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง 6.1 ตันต่อไร่ ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูง และทนแล้ง มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตสูง 4.9 ตันต่อไร่ ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ต้านทานโรคและอัตราการขยายพันธุ์สูง มัน สำปะหลังพันธุ์ระยอง 60 ให้ผลผลิตสูง 4.2 ตันต่อไร่ มีอัตราการขยายพันธุ์สูง คุณภาพต้นพันธุ์ดี แต่เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 ให้ผลผลิตสูง 5.1 ตันต่อไร่ มีผลผลิตสูง คุณภาพต้นพันธุ์ดี ทนแล้ง และมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 90 ให้ผลผลิตสูง 3.8 ตันต่อไร่ คุณภาพต้นพันธุ์ดี
นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังที่พร้อมจะถ่ายทอดให้กับเกษตรกร เช่น เทคโนโลยีการจัดการดินแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ผลงานวิจัยผลของอายุเก็บเกี่ยวที่มีต่อผลผลิตและปริมาณแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น
ส่วนอ้อย กรมวิชาการเกษตรมีพันธุ์อ้อยแนะนำที่จะนำไปปลูกเป็นพืชพลังงาน เช่น อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ดินร่วนปนทราย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ผลผลิตอ้อยปลูกสูงถึง 21.7 ตันต่อไร่ และอ้อยตอ 17.4 ตันต่อไร่ ต้านทานต่อโรคแส้ดำ แตกกอดี สะดวกในการเก็บเกี่ยว อ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 80 เป็นพันธุ์อ้อยที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ในเขตชลประทาน จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี ให้ผลผลิตอ้อยปลูกสูง 17.79 ตันต่อไร่ ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่า โรคแส้ดำในระดับปานกลาง
โดยมีผลงานวิจัยในการเพิ่มผลผลิตให้อ้อยอีกมากมายเช่น การทำแปลงพันธุ์อ้อยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การใช้เครื่องจักรกลชนิดต่าง ๆ ในการปลูกอ้อย การป้องกันและกำจัดโรคใบขาวอ้อย การควบคุมหนอนกออ้อย โดยใช้แตนเบียนไข่ การเพิ่มผลผลิตอ้อยตอ เป็นต้น
สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจพันธุ์มันสำปะหลัง พันธุ์อ้อย และการเพิ่มผลผลิตทั้งมันสำปะหลังและอ้อย สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=179869&NewsType=1&Template=1