เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 51
และตอนนี้ความนิยมในการใช้โรงเรือนเหล่านี้ก็มีมากขึ้น อย่างยิ่งเมื่อเรามียุทธศาสตร์ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งก็หมายความว่าการผลิตพืชที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือข้อกำหนดหลักที่ประเทศคู่ค้าของเราต้องการเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม โรงเรือนปลูกพืชเหล่านี้ เป็นเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์การใช้โรงเรือนที่แตกต่างจากของไทยเรา นั่นคือปกติแล้วการใช้ก็เพื่อป้องกันความเสียหายของผลิตผลเนื่องจากอากาศเย็นจัด ดังนั้นพอนำมาใช้ในบ้านเราเลยต้องมีการดัดแปลงกันมากมาย และความที่โรงเรือนปลูกพืชค่อนข้างใหม่สำหรับเมืองไทย และราคาที่ยังค่อนข้างสูงอยู่
ดังนั้น ก่อนจะมีการพัฒนารูปแบบ จึงได้มีการสำรวจรูปแบบของโรงเรือนต่างๆ ที่มีใช้กันในเมืองไทย โดยทีมนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยรวมตัวกันเพื่อสำรวจหลักๆ มี อ.ไกรเลิศ ทวีกุล จาก ม.ขอนแก่น ดร.ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา จาก ม.เชียงใหม่ และ ดร.ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ จาก ม.เกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ได้ไปศึกษารูปแบบและลักษณะของโรงเรือนที่ใช้กันอยู่สำหรับการผลิตพืชสวน เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางการพัฒนาโรงเรือนโดยได้ไปเก็บข้อมูลใน 13 จังหวัดทั้งเขตภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง โดยไปสำรวจโรงเรือนที่ใช้ในภาคเอกชน 86 แห่ง
ผลจากการสำรวจทั่วไปส่วนใหญ่ลงทุนค่อนข้างสูง คือโครงสร้างก่อสร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรง ทั้งเสา โครง ทำจากปูนและเหล็ก แต่ก็มีบางสวนที่เริ่มต้นโดยใช้โครงไม้ไผ่ หลังคาที่ใช้ส่วนมากก็เป็นพลาสติกที่ทนทานต่อแสงยูวี บางโรงเรือนมีการลงทุนทำระบบลดอุณหภูมิโดยการพ่นน้ำและคลุมตาข่ายพรางแสง และบางรายที่เป็นเอกชนรายใหญ่ลงทุนทำระบบควบคุมอุณหภูมิได้คล้ายโรงเรือนเลี้ยงไก่ ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนก็ต้องสูงตามไปด้วย
รูปแบบของโรงเรือนมีความแตกต่างกันไป เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วไปเอาตัวอย่างมาจากต่างประเทศ แต่ว่านำมาปรับปรุงและสร้างให้เหมาะสมสำหรับพื้นที่ตามวิธีแบบไทยๆ ก็ยังมีบางรายที่นำเข้าเทคโนโลยีโรงเรือนมาจากต่างประเทศโดยตรง
ดังนั้น เรื่องของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโรงเรือน จึงเป็นประเด็นที่ควรเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะรูปแบบโรงเรือนที่หลายคนต้องการคือ โรงเรือนที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย กันฝนได้ดี ลดความเข้มของแสงลงได้พอเหมาะสำหรับพืชแต่ละชนิด ติดตั้งง่าย สะดวก สามารถป้องกันแมลงได้ดีในระดับหนึ่ง อากาศถ่ายเทได้ดีและอุณหภูมิภายในต้องไม่สูงเกินไป ที่สำคัญต้องราคาไม่แพง และคุ้มค่ากับการลงทุน
หากทำได้ตามนี้ ก็น่าที่จะทำให้การใช้โรงเรือนเพื่อการปลูกพืชมีความแพร่หลายมากขึ้น และใช้กันได้ทั่วไป ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่การผลิตพืชที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานมากขึ้น
เรื่องที่น่าสนใจคือตอนนี้มีการพัฒนาพลาสติกเพื่อใช้สำหรับการทำโรงเรือนปลูกพืชขึ้นมาแล้วในประเทศไทย และเพิ่งได้รับรางวัลไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง
มีโอกาสคราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้งหนึ่งครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 20 ตุลาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/10/20/x_agi_b001_226798.php?news_id=226798