เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 51
สถานการณ์ราคายางพาราที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 20 วันที่ผ่านมา ถึงวันละ 5-10 บาท ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังไม่มีมาตรการอะไรออกมารองรับเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง
รวมถึงคนรับจ้างกรีดยางด้วย จึงทำให้ชาวสวนยางพาราเริ่มมีปฏิกิริยาออกมาบ้างแล้ว อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้เรียกสมาชิกทั่วประเทศหารือด่วนที่ จ.สงขลา และมีมติจะยื่นข้อเสนอ 2 มาตรการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยด่วน
มาตรการหนึ่ง เร่งรัดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียกประชุมด่วนผู้ประกอบการยางพาราตั้งแต่ระดับต้นน้ำ (ชาวสวนยาง-สหกรณ์) กลางน้ำ(ผู้ผลิต-พ่อค้า)และปลายน้ำ(เอกชน-ผู้ส่งออก) เพื่อกำหนดมาตรการระยะสั้นช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศ และอีกมาตรการหนึ่งให้รัฐหาวงเงินกู้ให้สหกรณ์ ดอกเบี้ยร้อยละ 1 เฉลี่ยสหกรณ์ละ 1 ล้านบาท โดยใช้ผลิตภัณฑ์ยางของสหกรณ์ค้ำประกันวงเงินกู้ พร้อมให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์สำนักงานกองทุนสงเคราะห์ยางพารา และคณะกรรมการประจำสหกรรณ์เพื่อตรวจสอบ โดยมีกำหนดระยะเวลาอย่างน้อย 6 -12 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
ในรอบกว่า 2 ปีมาแล้ว ที่ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น และรักษาเพดานในราคากิโลกรัมละ 80-90 บาท ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ราคายางพาราสูงเป็นประวัติการณ์ไปแตะที่กิโลกรัมละ106 บาท และกลับมารักษาระดับอยู่ที่กิโลกรัมละ 85-90 บาทอีกครั้ง กระทั่งเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางที่ดิ่งลงอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์เช่นกัน คือราคาดิ่งลงทุกวัน วันละ 5-10 บาท จนยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ลดต่ำลงกว่า 50 บาท น้ำยางสดเหลือเพียง 35 บาท เท่านั้น ขณะที่กรมวิชาการเกษตรยืนยันข้อมูลต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 50.60 บาท
สาเหตุที่ราคายางพาราปรับตัวลดลงมากผิดปกตินั้นเกิดจากปัจจัยหลัก 2 ประการด้วยกันคือ เกิดจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาถดถอย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ชะงักงัน ลามไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนต้องปิดตัวลงกว่า 300 โรงงาน
"ตอนนี้ไม่มีออเดอร์นำเข้ายางจากตลาดต่างประเทศแม้แต่รายเดียว เพราะประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาค่อนข้างรุนแรง ทำให้ไทยต้องได้รับผลกระทบไปด้วยเป็นไปตามระบบลูกโซ่ เท่าที่ติดตามข่าวล่าสุดโรงงานผลิตยางในประเทศจีนมากกว่า 300 แห่งปิดตัวลงกะทันหัน" นายเพิกกล่าว
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำ คือการเก็งกำไรของกองทุนต่างๆ ในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในต่างประเทศ ซึ่งเทขายอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการซื้อเข้า ทำให้มีผลทางด้านจิตวิทยาต่อผู้นำเข้าจากต่างประเทศอย่างมาก ทำให้ผู้ส่งออกในประเทศอยู่ในภาวะตื่นตระหนก เพราะทุกคนเชื่อว่าราคายางอยู่ในช่วงขาลง เป็นการกดให้ราคายางต่ำลงไปอีก
นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ราคายางลดลง คือภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ที่มียอดขายลดลงประมาณ 20-30% ส่งผลให้ผู้ผลิตยางชะลอการนำเข้ายางธรรมชาติที่ใช้สำหรับการผลิตยางล้อรถยนต์ จะเห็นได้ว่ากว่า 1 เดือนแล้ว ที่ไม่มีคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้าจากประเทศ แถมมีบางส่วนที่มีคำสั่งซื้อก่อนหน้านี้เบี้ยวไม่รับส่งมอบสินค้าอีกด้วย
ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำในขณะนี้คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาให้ข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริงของตลาดยางทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหยุดความตื่นตระหนกของเกษตรกร ซึ่งหากทำให้เกษตรกรหยุดเทขายยาง จะทำให้ราคาไม่ตกต่ำและอาจจะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ซึ่งตรงกับฤดูในภาคใต้
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน โดยในระยะสั้นอาจจะต้องมีการตั้งกองทุนประกันราคายาง เหมือนกับการประกันราคาข้าว ส่วนในระยะยาวคือการให้บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามาแทรกแซงเพื่อให้ยางหายไปจากตลาด เป็นการพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำมากกว่านี้
ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ-เอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องจะหันมาหามาตรการแก้ปัญหาราคายาง ก่อนที่เกษตรกรกว่า 6 ล้านคนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสวนยางพาราจะเดือดร้อนมากกว่านี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 20 ตุลาคม 2551
สถานการณ์ราคายางพาราที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 20 วันที่ผ่านมา ถึงวันละ 5-10 บาท ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังไม่มีมาตรการอะไรออกมารองรับเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง