เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 51
จากแนวคิดที่ว่า ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยคอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผง เมื่อเกษตรกรนำไปใช้ในแปลงเพาะปลูกจะเกิดเป็นฝุ่นลอยกระจายในอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร หากนำไปใช้ในแปลงเพาะปลูกที่พื้นที่ขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาหว่านมากกว่าปกติ และถ้าใช้เป็นจำนวนมากๆ จะทำให้ยากต่อการขนย้าย และการเก็บรักษา
เหตุผลเหล่านี้ทำให้ อ.จีระศักดิ์ เพียรเจริญ แห่งภาควิชาเทคโนโลยีเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา พร้อมทีมนักศึกษาจึงสร้าง "เครื่องอัดเม็ดปุ๋ยอินทรีย์" คุณภาพขึ้น นอกจากช่วยประหยัดเวลา แรงงาน ได้หลายเท่าตัวแล้ว เจ้าเครื่องนี้ยังทำไม่ยาก แถมราคาไม่แพงด้วย
อ.จีระศักดิ์ บอกว่า ได้ออกแบบและสร้างเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยต้นแบบนี้ ร่วมกับทีมนักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีเครื่องกล โดยเริ่มเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาเกือบ 3 เดือน ก็ได้เครื่องต้นแบบ พร้อมได้ทดสอบแล้วพบว่าเครื่องนี้สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพได้ถึง 120 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และใช้คนงานทำเพียง 1 คน ซึ่งเจ้าเครื่องนี้สามารถช่วยลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีได้มาก และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าจากเศษวัสดุที่เหลือใช้ที่มีอยู่ในชุมชนอีกทางด้วย
ทั้งนี้ เครื่องอัดเม็ดปุ๋ย อ.จีระศักดิ์ บอกว่า ประกอบด้วย ชุดผสมปุ๋ย ทำหน้าที่รองรับส่วนผสมต่างๆ ใบพัดผสมปุ๋ย ทำหน้าที่ครอบถังผสมเพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนผสมของปุ๋ยกระเด็นออกจากถัง กระบอกเกลียวลำเลียงทำหน้าที่รองรับเกลียวลำเลียงที่สวมเข้าด้านในและรองรับปุ๋ย เกลียวลำเลียง จะลำเลียงปุ๋ยที่ผ่านการผสมจากชุดผสมไปยังหัวอัดเม็ด หัวอัดเม็ดจะรองรับปุ๋ยที่ผ่านมาจากเกลียวลำเลียง เพื่อทำการอัดเม็ดโดยใช้ใบพัดกวาดเป็นตัวอัดเม็ดผ่านรูของหัวอัดเม็ด ใบพัดกวาด ทำหน้าที่รีดและอัดเม็ดปุ๋ยที่อยู่ในหัวอัดเม็ดเพื่อจะให้ได้ปุ๋ยที่เป็นเม็ดออกมา
"ขั้นตอนการทำงานของเครื่องอัดเม็ดปุ๋ย คือ ระบบส่งกำลังโดยสายพาน ส่งกำลังจากเครื่องยนต์ 7 แรงม้า ไปยังเพลาอัดที่ชุดอัดเม็ดปุ๋ยโดยความเร็ว 200-300 รอบต่อนาที และเพลาชุดอัดเม็ดจะส่งกำลังโดยสายพานต่อไปยังเพลาชุดผสม โดยความเร็วรอบที่ 100 รอบต่อนาที จากนั้นต่อไปยังเป็นชุดผสมและถังผสม ซึ่งอยู่ด้านบนสุดของเครื่องก่อนปล่อยลงไปยังชุดลำเลียงเพื่อไปยังชุดอัดเม็ดต่อไป" อ.จีระศักดิ์แจงและว่า กระบวนการจะเสร็จสิ้นตรงที่ใบพัดกวาดจะรีดและอัดให้ปุ๋ยออกผ่านรูของหัวอัดเม็ดที่มีขนาด 5 มม. ที่เจาะไว้ 2,500 รู ซึ่งนั่นหมายความว่ารอบหนึ่งๆ เครื่องนี้จะผลิตปุ๋ยอัดเม็ดได้ 2,500 เม็ด
เห็นได้ว่าเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยชีวภาพสามารถลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน เพราะเบ็ดเสร็จทุกกระบวนการใช้คนเพียง 1 คน และยังไม่เป็นอันตรายจากการเกิดฝุ่นละอองในอากาศอีกด้วย นอกจากนี้ การนำไปใช้ก็สะดวก ไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการ ที่สำคัญราคาของเครื่องนี้ไม่แพง อยู่ระดับหลักพันบาทสำหรับผู้ที่พอจะมีอุปกรณ์อยู่บ้าง แต่จะราคาหลักหมื่นบาทขึ้นไปกรณีที่ต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดมาประกอบ
เกษตรกรผู้ประกอบการท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ อ.จีระศักดิ์ เพียรเจริญ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา โทร.08-9197-2933 หรือ 0-7431-7100 ต่อ 1915
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 21 ตุลาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/10/21/x_agi_b001_226990.php?news_id=226990