เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 51
ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นกิจกรรมโครงการที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ให้การสนับสนุนมาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2538...ปัจจุบัน ธ.ก.ส.เดินหน้าโครงการอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ผลเป็นไปตามเป้าและออกมาเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
พร้อมทั้ง รณรงค์ให้สังคมเห็นประโยชน์ ของต้นไม้และตระหนักถึงคุณค่าของการปลูกป่า รวมถึงส่งเสริมให้ทุกคนร่วมกันปลูกต้นไม้เดินตามรอย พ่อหลวงของแผ่นดิน โดยชักชวนหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมกิจกรรม
เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ร่วมกับ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ปฏิบัติการปลูกป่า ณ อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี เขตติดต่อกับหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ หมู่ 3 ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว นครราชสีมา
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. (ตำแหน่งในขณะนั้น) ซึ่งเป็นเจ้าภาพใหญ่พาไป บอกว่า โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธ.ก.ส.สนับสนุนประเภทสวนป่า จำพวก ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าสน และ ป่าริมทาง สำหรับ พันธุ์ไม้ที่นำมาปลูก ก็จะเน้นไม้ยืนต้น อย่างเช่น ตะเคียน ประดู่ สัก ยางนา พะยูง กระถิน และกฤษณา
โดยตั้งเป้าของการ ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ไว้ว่าจะต้องให้ได้จำนวน 9,999,999 ต้น ตอนนี้ปลูกไปแล้ว 3-4 ล้านต้น
และหลังจากเสร็จสิ้นการปลูกป่าแล้วยัง เสริมกิจกรรมด้วยการนำชม แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยพาคณะฝ่าเปลวหมอกขึ้นไปชมแปลงเบญจมาศของ สวนวิภา ภายในปริมณฑลพื้นที่ บ้านบุไทร หมู่ 4 ตำบลไทยสามัคคี ซึ่งไม่ ห่างจากพื้นที่จัดกิจกรรมปลูกป่าครั้งนี้เท่าใดนัก
นางวิภา จันทร์คุ้ม เจ้าของสวนวิภา ให้ข้อมูลว่า เบญจมาศเป็นไม้ตัดดอกชนิดหนึ่งที่ตลาดมีความ ต้องการสูง ขายได้ราคา เช่นพันธุ์ เรแกน โพลาริส สไปเดอร์ และ ปิงปอง
แต่การผลิตต้องทำในพื้นที่เหมาะสมจึงจะได้คุณภาพดี วังน้ำเขียวถือว่าเป็นแหล่งที่เหมาะสม เนื่องจากมีอากาศหนาวทั้งปี ปริมาณฝนและแสงแดดเพียงพอ ปัจจุบันการผลิตได้กระจายสู่เกษตรกรรายย่อย เรามีสมาชิก 32 คนแต่จัดให้เป็น 5 กลุ่ม พื้นที่ในการผลิตกว่า 100 ไร่
เบญจมาศที่นำมาปลูกบนวังน้ำเขียว...ซื้อต้นพันธุ์มาจาก ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ราคาต้นละ 60 สตางค์ โดยปลูกในโรงเรือน หนึ่งปีจะปลูกได้ถึง 3 รอบ
โรงเรือนขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยาว 20 เมตร จะปลูกต้นเบญจมาศได้ 2,500 ต้น หลังปลูกให้รดน้ำทันที ส่วนการใช้ปุ๋ยบำรุงแปลง ช่วงแรกให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 โรงเรือนละ 1 กิโลกรัม ทำสัปดาห์ละครั้ง
เมื่อ เข้าสู่เดือนที่ 2 เบญจมาศเริ่มติดดอกและเดือนที่ 3 เมื่อเบญจมาศดอกเต่ง ก็ใช้ปุ๋ยสูตร 0-0-52 บำรุงดอกในอัตรา 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดรดทั้งโรงเรือน อย่างไรก็แล้วแต่ ควรระวังเรื่องโรคแมลงและค้ำยันต้นไม้ให้ลำต้นหักล้มหรือโค้งงอ
นางวิภา บอกด้วยว่า ปัจจัย หลักของการผลิตเบญจมาศให้ได้ ผลผลิตที่มีคุณภาพการให้แสงและงดแสง และการผลิตนอกฤดูจะบังคับ การออกดอกโดยคลุมผ้าพลาสติกสีดำบนโครงหลังคาให้มิดชิด ตั้งแต่ 18.00-07.30 น. จึงจะเปิดผ้าดำออกประมาณ 30 วัน นอกจากนี้ยังต้องบังคับเบญจมาศไม่ให้ออกดอกจนกว่าลำต้นจะสูงประมาณ 30 เซนติเมตร โดยใช้วิธีเปิดไฟให้ต้นอ่อน ตั้งแต่ปลูกไปถึงระยะเวลา 1 เดือนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อคืน
การเก็บเกี่ยวจะตัดดอกเบญจมาศในช่วงเวลาใกล้ค่ำเพื่อป้องกันการเหี่ยวเฉา โดย เลือกดอกที่บาน 70-80% นำมาตัดแต่งให้ได้ก้านยาว 70-75 เซนติเมตร ห่อช่อดอกด้วยกระดาษ ห่อละ 1 กิโลกรัม โดยราคาขายส่งหน้าฟาร์มนอกฤดู เกรด A เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70 บาท เกรด B 60 บาท และเกรด C กิโลกรัมละ 50 บาท....ตัดส่งขายสัปดาห์ละ 500-600 กิโลกรัม
คิดเป็นรายได้เดือนละประมาณ 60,000 บาท... ถือว่ามากโขเลยทีเดียว สนใจไปชมแปลงปลูกเบญจมาศ กริ๊งกร๊างหาวิภา ที่ 08-6251-9843.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 22 ตุลาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=108488