เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 51
ดังนั้น วัตถุดิบที่ใช้ในการทำแอลกอฮอล์ก็คงหนีไม่พ้นอ้อย และกากน้ำตาล ซึ่งมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก แต่ว่า ต่อมาได้มีการพัฒนามาใช้มันสำปะหลัง ซึ่งมีแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก และเมื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการหมักโดยยีสต์ตามปกติและได้แอลกอฮอล์ในที่สุด ซึ่งตอนนี้ความต้องการแอลกอฮอล์มีสูงมากเพราะว่าได้กลายมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพลังงานทดแทนในรูปของน้ำมันผสมแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ 10-85% ที่เรียกกันว่าอี 10, อี20 และอี 85 นั่นเอง
ปัญหาที่เกิดจากการใช้อ้อยและมันสำปะหลังมาเป็นวัตถุดิบในการหมักให้เกิดแอลกอฮอล์ก็คือทั้งคู่จัดได้ว่าเป็นพืชอาหาร ซึ่งความต้องการของตลาดก็มีอยู่สูงมาก จึงเกิดการแย่งวัตถุดิบกันขึ้น ส่งผลให้ราคาของวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น จนเกิดผลกระทบไปทั่ว นั่นคือแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ก็ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น อาหารทั้งคนและสัตว์ก็ต้องเพิ่มราคาขึ้น เพราะว่าวัตถุดิบแพงขึ้น เรียกได้ว่าส่งผลต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่
ดังนั้นจึงมีแนวคิดของหลายคนว่า การผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานไม่น่าจะนำมาปะปนกันหรือผูกโยงกันจนกระทั่งก่อให้เกิดผลกระทบไปยังอีกส่วนหนึ่ง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมี ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล เป็นหัวหน้าโครงการ จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ข้าวฟ่างหวานเป็นวัตถุดิบเสริมสำหรับการผลิตเอทานอล เพื่อหาทางนำข้าวฟ่างหวาน ซึ่งไม่ใช่พืชอาหาร มาใช้แทนอ้อยและมันสำปะหลัง
ผลจากการที่นักวิจัยและทีมงานได้พยายามกันอย่างต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีก็พบข้อดีของข้าวฟ่างหวานที่น่าจะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจได้ว่า มีความเป็นไปได้มากในการใช้ข้าวฟ่างหวานเสริมหรือทดแทนวัตถุดิบอย่างอื่น ยกตัวอย่างเมื่อเทียบกับอ้อยก็คือว่า ความหวานหรือปริมาณน้ำตาลในน้ำคั้นทั้งของอ้อยและข้าวฟ่างหวานค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่ข้าวฟ่างหวานสามารถปลูกโดยใช้เวลาเพียง 100-120 วันก็เก็บเกี่ยวได้แล้วเพราะเป็นพืชอายุสั้น ในขณะที่อ้อยต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีเต็ม
แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือผลผลิตข้าวฟ่างหวานตกประมาณ 5-6 ตันต่อไร่ซึ่งดูเหมือนต่ำกว่าอ้อยที่ให้ผลผลิตได้มากถึง 9-10 ตันต่อไร่แต่ข้าวฟ่างหวานอายุสั้นกว่า แต่ละปีจึงปลูกได้มากครั้งว่า หากมาเทียบกันแล้ว ผลผลิตข้าวฟ่างหวานต่อไร่ต่อปีกลับมากกว่าอ้อยด้วยซ้ำไป
ดังนั้นการใช้ข้าวฟ่างหวานเป็นพืชเสริมการผลิตแอลกอฮอล์ในกรณีที่อ้อยและมันสำปะหลังมีปัญหาจึงน่าจะมีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสมในช่วงที่วัตถุดิบขาดแคลนอย่างเช่นอ้อยและมันจะมีช่วงเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกันคือประมาณพฤศจิกายนถึงเมษายน หลังจากนั้นจะเกิดช่องว่าง หากสามารถผลิตข้าวฟ่างหวานเข้าทดแทนได้ ก็น่าจะทำให้ระบบการผลิตเอทานอลมีความต่อเนื่องได้อย่างดี แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีการวางแผนและการจัดแบ่งผลประโยชน์ที่เหมาะสมระหว่างโรงงานและเกษตรกรผู้ผลิต เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ได้ด้วยกันทั้งคู่ครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 24 ตุลาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/10/24/x_agi_b001_227540.php?news_id=227540