เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 51
ขี้เถ้าแกลบ ใครคิดว่าไร้คุณค่าเมื่อเอาออกมาจากเตาจึงทิ้งไป ณ วันนี้ นักวิจัยได้นำของเหลือทิ้งอันนี้มา เป็น “ไบโอฟิลเตอร์” หรือ วัสดุพรุนใช้ช่วยย่อยสลาย เพื่อบำบัดน้ำเสีย ทั้งในกระบวน การบำบัดน้ำด้านประมง น้ำทิ้งจากชุมชน หรือแม้กระทั่ง น้ำในตู้ปลา
โดย ไบโอฟิลเตอร์ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีอยู่หลายประเภท เช่น วงแหวนเซรามิกส์ หินพัมมิส หรือ ปะการัง ซึ่งมีการนำมาจากธรรมชาติส่วนหนึ่งและที่น่าเป็นห่วง (เงินในกระเป๋า) คือซื้อจากต่างประเทศ
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) บอกว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ร่วมกับ สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) และ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ทำการวิจัย “วัสดุพรุนสำหรับการย่อยสลายและการบำบัดน้ำทางชีวภาพ” เพื่อการผลิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เม็ดบำบัดน้ำจากขี้เถ้าแกลบ โดย ดร.ผกามาศ แซ่หว่อง เป็นหัวหน้าโครงการ
งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มจากการนำ ขี้เถ้าแกลบมาจากโรงงานไฟฟ้า ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักและเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก เข้าสู่กระบวนการทำให้อยู่ในรูปเม็ดขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร จากนั้นจึง นำมาเผาอีกครั้งหนึ่ง แล้วได้ขี้เถ้าแกลบเป็นเม็ดที่คงรูป ซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายทางชีวภาพต่างๆ โดยจะ ต้องให้มีความพรุนในตัว ซึ่งขนาดของรูพรุนนั้นอยู่ ในระดับไมครอนไปจนถึงมิลลิเมตร จึงเหมาะสม เพราะจะกลายเป็นที่อยู่อาศัย ของจุลินทรีย์ ในการทำหน้าที่ย่อยสลายของเสียที่ปล่อยจากสัตว์น้ำ ทำให้น้ำไม่เป็นพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยเม็ดบำบัดน้ำเสียจากขี้เถ้าแกลบนี้ จากการวิเคราะห์วิจัยทางเทคนิคแล้ว จะมีพื้นที่ผิวประมาณ 11 ตารางเมตรต่อกรัม ซึ่งมากกว่าปะการังถึง 1 ใน 4 ดังนั้นหากมีการนำวัสดุดังกล่าวมา ทดแทนปะการัง หรือ วัสดุที่มาจากธรรมชาติ ก็จะช่วยรักษาสมดุลของ สิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งและคาดว่าจะมีผู้หันมาใช้วัสดุประเภทนี้มากขึ้น นับว่าเป็นหนึ่งในความหลายหลาก ของผลงานวิจัยไทย ที่สร้างความภูมิใจ ใน การนำของเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ลดการนำเข้า วัสดุไบโอฟิลเตอร์จากต่างประเทศ และ สามารถพัฒนาเข้าสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 27 ตุลาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=109067