ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ศึกษาพัฒนากวางรูซ่าขยายผลสู่ราษฎรตามพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 51
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ศึกษาพัฒนากวางรูซ่าขยายผลสู่ราษฎรตามพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯทรงงานในพื้นที่จังหวัดนครพนม และสกลนคร ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา และได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมการดำเนินงานในกิจกรรมงานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นายสมชาย พิกุลประยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เฝ้าฯรับเสด็จ โดยมีนายวิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร นายสัตวแพทย์ 6 หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ เป็นผู้ถวายรายงาน
ในระหว่างเสด็จฯทอดพระเนตรกิจกรรมสาธิตและพัฒนางานด้านการปศุสัตว์ มีพระราชดำรัสซักถามถึงงานเลี้ยงกวางรูซ่าที่มีอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่ามาจากแหล่งใด และจะนำมาทำอะไร ซึ่งได้กราบบังคมทูลว่า เป็นกวางที่กรมปศุสัตว์ให้การสนับสนุนนำมาเลี้ยงสาธิตส่วนหนึ่ง และจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกส่วนหนึ่ง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเลี้ยงกวางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศึกษาหาความคุ้มทุนในการเลี้ยง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์แต่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งจากการทดลองเลี้ยงมา 2 ปี กวางรูซ่าสามารถให้ลูก ได้ปีละ 1 ตัว และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
ได้มีพระราชดำรัสถามต่อว่า ใช่กวางที่จะนำมาตัดเขาอ่อนหรือไม่ แล้วคิดจะทำหรือเปล่า ได้กราบบังคมทูลว่าในปีงบประมาณ 2551 กรมชลประทานให้การสนับสนุนคอกตัดเขากวาง ซึ่งจะได้ทำการทดลองผลิตเขากวางอ่อนทั้ง รูปแบบดองและเป็นผง ทรงสนพระราชหฤทัยมีรับสั่งให้ดำเนินการ และให้ศึกษาถึงคุณประโยชน์จากเขากวางอ่อน ว่ามีสรรพคุณทางยาหรือไม่เพียงใด
ตลอดเวลาในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมงานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจกรรมด้านการปศุสัตว์เป็นอันมาก มีพระราชดำรัสและพระราชดำริต่องานปศุสัตว์หลายประการ ทรงพระเกษมสำราญ และรับฟังการถวายรายงานโดยตลอด ยังความปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้นแก่คณะผู้เข้าเฝ้าฯรับเสด็จ และเป็นเกียรติสูงสุดแก่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้ถวายงานและน้อมรับกระแสพระราชดำรัส ตลอดถึงแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติและพัฒนางานต่อไป
สำหรับกวางรูซ่านั้นในประเทศออส เตรเลียมีการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเนื้อส่วนเขากวางอ่อนเป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ได้จากการจำหน่ายเนื้อกวางสูงถึง 90% เขากวาง 6% และกวางมีชีวิต 4% ตลาด การส่งออกของเนื้อกวางส่วนใหญ่อยู่ในแถบประเทศยุโรปและอเมริกาซึ่งนิยมบริโภคเนื้อกวางเพื่อสุขภาพกันมาก เนื่องจากเนื้อกวางมีไขมันปริมาณค่อนข้างต่ำและมีไขมันประเภทอิ่มตัว คอเลสเตอรอลที่เป็นสาเหตุไขมันอุดตันในเส้นเลือดน้อยมาก ขณะเดียวกันกรดไขมันในเนื้อกวางเป็น essential fatty acid ที่ จำเป็นต่อร่างกายมีอยู่ในปริมาณค่อนข้างสูง
กวางรูซ่าสามารถอาศัยอยู่ในทุกสภาพภูมิอากาศ มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทวีปอเมริกา เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา น้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 120-160 กก. เพศเมีย 65-90 กก. ชอบอยู่เป็นฝูง นิสัยค่อนข้างตื่นตกใจง่าย และจะวิ่งหนี สามารถกระโดดได้สูงถึง 2 เมตร โดยเฉพาะพ่อแม่พันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ช่วงที่เขาแข็งจะแสดงอาการดุร้าย หวงตัวเมีย จะไม่ให้ตัวผู้ตัวอื่นเข้าใกล้ ไล่ขวิดกันจนกว่าจะยอมแพ้หนีไปเอง บางครั้งขวิดกันจนขาหักอาจตายได้
กวางรูซ่าที่จับแยกจากแม่มาเลี้ยงตั้งแต่เล็กอายุไม่เกิน 2 เดือน ค่อนข้างเชื่องและคุ้นเคยกับคนเลี้ยงทั้งเพศผู้และเพศเมีย สามารถปล่อยออกมาเดินเล่นกับคนได้ เมื่อถึงระยะที่เขาแข็งกวางเพศผู้ที่คุ้นเคยกับคนจะดุมาก จะแสดงอาการเดินเข้าหาแบบช้า ๆ ขนที่คอจะตั้งชัน ร่องที่ใต้ตาจะเปิดออก ทำริมฝีปากม้วน ฉี่เป็นวงใส่ตัวเอง กระทืบเท้าและทุ่มตัวเข้าใส่พร้อมที่จะขวิดเมื่อคนเข้าใกล้
สำหรับการศึกษาถึงแนวทางการเลี้ยงกวางรูซ่าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีแนวโน้มสดใส ที่ข้อสรุปจะสามารถนำมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนราษฎรในพื้นที่ เพื่อเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181033&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น