กรมวิชาการเกษตรวิจัยพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่งสำเร็จ
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 51
กรมวิชาการเกษตรวิจัยพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่งสำเร็จ
มันฝรั่ง แม้จะไม่ใช่พันธุ์พืชของไทย แต่ก็เป็นพืชผักอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวสามารถปลูกมันฝรั่งได้ดีในที่ราบ โดยไม่จำเป็นต้องปลูกบนเขาเหมือนการปลูกมันฝรั่งในฤดูอื่น ๆ
แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และตาก ซึ่งมีผลผลิตรวมกันประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะกระจายปลูกในพื้นที่จังหวัดลำพูน เชียงราย สกลนคร และเลย รวมแล้วมีพื้นที่ปลูกประมาณ 50,000 ไร่ การปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยนั้นมี 2 ประเภท คือ มันฝรั่งสำหรับบริโภคสด และมันฝรั่งแปรรูปส่งโรงงาน
ในปัจจุบันความต้องการบริโภคมันฝรั่งมีปริมาณสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการบริโภคมันฝรั่งแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ มันฝรั่งทอดแบบเฟรนช์ฟรายด์ และใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ต้องการมันฝรั่งเป็นวัตถุดิบในปริมาณที่ค่อนข้างสูง
เมื่อความต้องการมันฝรั่งแปรรูปในประเทศมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้พื้นที่การปลูกมันฝรั่งขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ปัญหาการขาดแคลนหัวพันธุ์มันฝรั่งจึงเกิดขึ้น จำเป็นจะต้องพึ่งพาการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศแคนาดาและออสเตรเลีย โดยนำเข้ามาประมาณ 7,000-8,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 140-160 ล้านบาท แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ไม่ทั้งหมดเนื่องจากการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งนั้น มีการจำกัดโควตาการนำเข้า
สำหรับแนวทางแก้ไขการขาดแคลนมันฝรั่งและลดการพึ่งพาจากต่างประเทศได้ดีที่สุดก็คือ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาเอง
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรมีนโยบายที่จะผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งขึ้นเอง โดยได้ทดลองวิจัยและพัฒนาพันธุ์ ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะได้เป็นพันธุ์จี 1 ออกมา แต่มีขีดความสามารถให้ผลผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งได้เพียงปีละ 50-60 ตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
กรมวิชาการเกษตรได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้หารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะให้เครือข่ายของสหกรณ์ร่วมกันผลิตหัวพันธุ์ โดยการขยายการผลิตหัวพันธุ์จากการทดลองของกรมวิชาการเกษตรสู่แปลงเกษตรกรจริง ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้ไทยมีผลผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้การปลูกหัวพันธุ์จะต้องพิจารณาปัจจัยของลักษณะภูมิประเทศ และอากาศของพื้นที่ด้วยว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
การปลูกมันฝรั่งของไทย ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80-90 จะปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงาน ที่เหลือเป็นการปลูกเพื่อบริโภคเอง ดังนั้นจึงเป็นการปลูกในลักษณะคอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยเกษตรกรจะรับซื้อพันธุ์มา จากบริษัทในราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท จากที่บริษัทนำเข้ามาประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท
“หัวพันธุ์มันฝรั่งที่นำเข้าบางครั้งไม่มีคุณภาพเพราะใช้ระยะเวลาการขนส่งนานเกินไป เมื่อถึงมือเกษตรกรหัวพันธุ์จึงนิ่มให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นหากไทยสามารถผลิตหัวพันธุ์ได้เอง จะทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
สำหรับตลาดมันฝรั่งในประเทศนั้น รายงานจากกรมส่งเสริมการเกษตรระบุว่า ประเทศไทยมีความต้องการมันฝรั่งถึงประมาณปีละกว่า 120,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นมันฝรั่งบริโภคสดประมาณ 10,000 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นมันฝรั่งที่ใช้แปรรูปในโรงงาน
ผลผลิตมันฝรั่งในประเทศสามารถผลิตได้ประมาณปีละ 87,000 ตัน ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จำเป็นจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีราคาสูงกว่ามันฝรั่งที่ผลิตในประเทศกว่าเท่าตัว ดังนั้นการนำเข้ามันฝรั่งของไทยจึงมีการนำเข้าทั้งในรูปแบบหัวพันธุ์มันฝรั่ง และมันฝรั่งที่นำมาใช้แปรรูปในโรงงาน ทำให้ไทยต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้แนวโน้มตลาดมันฝรั่งของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไทยได้นิยมบริโภคอาหารแบบตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ทั้งอาหารประเภทเร่งด่วน และอาหารว่างประเภทขบเคี้ยว ซึ่งมันฝรั่งจะเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารดังกล่าว
จากสถานการณ์มันฝรั่งดังกล่าว จึงไม่แปลกเลยที่มันฝรั่งจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สำคัญในภาคเหนือ เพราะจะให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่น ๆ หลายชนิดโดยจะมีกำไรอยู่ระหว่าง 6,000-9,000 บาทต่อไร่
ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้วิจัยและพัฒนาผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งสำเร็จ และได้จัดทำโครงการร่วมกับเครือข่ายของสหกรณ์ ในการผลิตหัวพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกร ราคาเพียงกิโลกรัมละ 17-20 บาท โดยได้วางเป้าหมายผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อทดแทนการนำเข้าได้ 6,000-7,000 ตันต่อปี ภายในปี 2554
นับเป็นโอกาสทองของเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งที่นอกจากจะได้กำไรเพิ่มขึ้นแล้วยังมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยลดการขาดดุลเงินตราต่างชาติที่ต้องนำเข้ามันฝรั่งอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181032&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น