เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 51
ราคายางพาราแผ่นที่พุ่งสูงกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมก่อนหน้านี้ลงมาเหลือประมาณ 50 บาท ต่อกิโลกรัมในช่วงนี้ และยังมีแนวโน้มผันผวนค่อนข้างสูงอีกด้วยนั้น ได้ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราของไทยและการส่งออกที่มีมูลค่าปีละกว่า 300,000 ล้านบาท ได้รับผลกระทบโดยตรง
สถานการณ์ดังกล่าวจะยืดเยื้อหรือไม่ และมีสาเหตุสำคัญมาจากอะไรนั้น นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคายางที่ตกต่ำในขณะนี้ เป็นเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ ถุงมือทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ ยางที่ใช้ในงานก่อสร้าง งานวิศวกรรม ยางกันชนหรือกันกระแทก และฝายยาง ซึ่งจะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบมีความต้องการลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของยางพาราชะลอการนำเข้า
ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันดิบบาร์รลละกว่า 145 เหรียญสหรัฐ เหลือเพียงบาร์เรลละ 78 เหรียญสหรัฐ ซึ่งราคายางพาราในตลาดโลกก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน นอกจากนี้จากที่ยางพาราเป็นสินค้าที่ผูกติดกับตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เมื่อซื้อแล้วจะต้องส่งมอบในอีก 1-2 เดือนถัดไป ทำให้เกิดการเก็งกำไร ประกอบกับผู้ที่ซื้อยางพาราบางประเทศในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ไม่รับสินค้า ยอมปล่อยให้ถูกปรับแทนแล้วมาช้อนซื้อในภายหลัง ซึ่งจะได้ยางพาราที่มีราคาต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีความมั่นใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของราคายางตกต่ำ ล่าสุดทางกรมวิชาการเกษตร ได้เชิญผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาง เพื่อร่วมกันหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข รวมทั้งได้ตรวจสอบสต๊อกยางพาราที่มีอยู่ทั้งหมดภายในประเทศ พบว่า มีปริมาณยางพาราไม่มากและไม่ได้ล้นตลาด ซึ่งไม่มีผลต่อราคายางที่ตกต่ำ
“ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดในขณะนี้ไม่น่าจะทำให้ราคายางตกต่ำ แต่น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ราคาน้ำมันลดลง และการเก็งกำไรจากการซื้อขายในตลาดล่วงหน้ามากกว่า” นายสมชายกล่าว
โดยปกติแล้วในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี ราคายางจะลดลงประมาณ 10% เป็นปกติอยู่แล้ว ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ราคาน้ำมันลดลง และการเก็งกำไรจากการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจึงทำให้ปีนี้ราคายางตกต่ำมากกว่าที่ควรจะเป็น
และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำรับทราบมาว่าทางกรมวิชาการเกษตร ได้หาแนวทางช่วยเหลือโดยหาแหล่งเงินกู้ ให้กับผู้ประกอบธุรกิจยางเพื่อเข้ามารับซื้อยาง และเจรจากับประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาการส่งมอบ ด้วยการไม่ยอมรับสินค้า พร้อมทั้งยังได้ประชุมหารือกับ 3 ประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ของโลกคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อออกมาตรการแก้ปัญหา ดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับยางในประเทศทุกแห่ง ยังจะช่วยกันพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และผลักดันให้มีราคาสูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น ดังนั้นในระหว่างนี้เกษตรกรอย่าเพิ่งเร่งจำหน่ายยางพารา ควรเก็บไว้สักระยะเพื่อรอให้สถานการณ์ราคาคลี่คลาย ก่อนจะนำออกมาขายในท้องตลาด ถ้าหากเกษตรกรเทขายในช่วงนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น
“เกษตรกรสามารถเก็บยางไว้ในต้นยางได้ โดยไม่เสียหาย อาจจะกรีดยางวันเว้นวันหรือเว้น 2 วัน ก็ จะเป็นการพักต้นยางไปในตัว ซึ่งทำให้กรีดยางได้ปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เกษตรกรควรจะนำน้ำยางดิบมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน เพื่อเพิ่มมูลค่าและยังจะสามารถเก็บรักษาได้นาน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีเทคโนโลยีด้านการปลูก การกรีด และการแปรรูปยางที่ถูกต้องเหมาะสมพร้อมจะถ่ายทอดให้เกษตรกรได้ทันทีตลอดเวลา” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
พร้อมกันนี้ นายสมชาย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังได้ยืนยันด้วยว่าถึงแม้ราคายางพารา จะมีราคาต่ำว่า 50 บาท แต่ยางพาราก็ยังมีแนวโน้มที่สดใส ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ เพียงแค่เกษตรกรควรดูแลและรักษาผลผลิตยางให้มีคุณภาพ เชื่อว่าตลาดยังมีความต้องการ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมราคาจะกลับขึ้นมาตามภาวะเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวอย่างแน่นอน
สำหรับต้นทุนการผลิตยางในปัจจุบันจะมีต้นทุนประมาณ 30 บาทต่อกิโลกรัม หากราคายางต่ำกว่า 50 บาท เชื่อว่าเกษตรกรยังมีกำไร เกษตรกรจึงไม่ควรตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ควรรีบนำยางพาราออกเทขายในช่วงนี้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181153&NewsType=1&Template=1