เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 51
"เห็ดฟาง” พืชอาหารโปรตีนที่ทุกคนนิยมบริโภคนี้ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ให้ผลผลิตเร็วคือ ภายใน 2 สัปดาห์เท่านั้นมีวิธีการเพาะหลายวิธี เช่น เพาะแบบกองเตี้ย เพาะแบบกองสูง เพาะในโรงเรือน และการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าโดยใช้วัสดุ อุปกรณ์ เป็นตะกร้าพลาสติกสูงประมาณ 1 ฟุต ตาห่างประมาณ 1 ตารางนิ้ว พร้อมเชื้อเห็ดฟาง ขี้เลื่อย และอาหารเสริมเป็นมูลสัตว์ผสมรำในอัตรา 1:1 กับแป้งข้าวสาลี
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ได้ดำเนินการศึกษาการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าและประสบความสำเร็จสามารถขยายผลสู่ราษฎรในพื้นที่ โดยขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางของงานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จะเริ่มจากนำขี้เลื่อยมาใส่ในตะกร้าพลาสติกสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ใช้มือหรือไม้กดให้แน่น จากนั้นนำเอาอาหารเสริมโรยชิดด้านในของตะกร้าเป็นวงกลม กว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ ซึ่งใช้ประมาณ 1 ลิตรต่อชั้น
แล้วนำเชื้อเห็ดฟางออกจากถุง นำไปคลุกกับแป้งข้าวสาลีพอติดผิวนอก เพื่อเป็นอาหารเสริมระยะแรกที่ช่วยกระตุ้นให้เชื้อเห็ดเจริญได้ดี แล้วโรยทับอาหารเสริมอีกชั้นหนึ่ง ทำเป็นชั้น ๆ ลักษณะนี้จนเต็มตะกร้าพลาสติก รดน้ำให้ชุ่ม (หากก้อนเชื้อเห็ดที่นำมาเพาะยังชุ่มอยู่ก็ไม่ต้องรดน้ำ แต่หากแห้งก็รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้น ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับการเกิดดอกเห็ด โดยการปิดโรงเรือนให้มิดชิด เช่น ด้านล่างควรใช้อิฐทับผ้าพลาสติกไว้ เพื่อป้องกันพลาสติกเปิดออก ภายในโรงเรือนควรติดเทอร์โมมิเตอร์ สำหรับวัดอุณหภูมิ ในช่วงวันที่ 1 ถึง 4
วันแรกต้องควบคุมอุณหภูมิในกระโจมหรือในโรงเรือนให้อยู่ในระดับ 37-40 องศาเซลเซียสหากอุณหภูมิสูงเกินไปให้เปิดช่องระบายอากาศด้านบนของโรงเรือนออก โดยใช้วัสดุพรางแสงคลุมหรือรดน้ำรอบ ๆ โรงเรือนเมื่อครบกำหนด 4 วันแล้ว ให้เปิดผ้าพลาสติกหรือประตูโรงเรือน อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ (ออกซิเจน) และเพื่อให้เส้นใยเห็ดฟางสร้างจุดกำเนิดออก ถ้าวัสดุแห้งเกินไปให้รดน้ำหรือที่เรียกว่าการตัดใยเห็ดในระหว่าง วันที่ 5-8 ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียสซึ่งในช่วงนี้จะมีการรวมตัวของเส้นใยเป็นดอกเล็ก ๆ จำนวนมากเมื่ออายุได้ 9-12 วันก็เก็บดอกเห็ดได้
สำหรับต้นทุนในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าต่อ 1 ตะกร้าที่ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ทำการศึกษาที่สามารถขยายผล ให้กับราษฎรพื้นที่รอบศูนย์นำไปประกอบเป็นอาชีพในทุกวันนี้เริ่มด้วยตะกร้าราคา 35 บาท เชื้อเห็ด 6 บาท ขี้เลื่อย 3 บาท อาหารเสริม และแป้งสาลี 3 บาทจะได้ผลผลิตต่อ 1 ตะกร้า 0.5-1 กิโลกรัม
สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่งานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ โทร. 0-3938-8113 โทรสาร 0-3938-8114.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181154&NewsType=1&Template=1