เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 51
“โลกยุคปัจจุบัน” ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติพลังงาน เนื่องจาก น้ำมันปิโตรเลียมดีดราคา จนสูงโด่งและขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอันเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจขยับสูงขึ้น หลายหน่วยงานจึงพยายามหาแนวทาง ลดต้นทุน และ หันมาสนใจกับพลังงานทดแทน จากธรรมชาติ โดยเฉพาะพลังจากแสงอาทิตย์ ลม และน้ำ
นอกจากนั้นพึ่งพา พลังงานทดแทนจากทรัพยากรบนดิน คือ ผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งมีหลายชนิดที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตใช้งานได้ แต่ถ้าเข้าสู่เชิงธุรกิจต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม มีการผลิตพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้กันอย่างประหยัด โดยนำวัสดุ หรือ ของเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรมมาดัดแปลงเข้าสู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ในด้านพลังงานอีก
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นหน่วยงานหนึ่งของภาคเอกชนที่นำเอาน้ำมัน ที่ใช้แล้ว ผันเข้าสู่ขบวนการผลิต “ไบโอดีเซล”
ไบโอดีเซล หมายถึง เชื้อเพลิงพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ ที่ผลิตได้จากน้ำมันพืช หรือไขมันสัตว์ ทั้งที่ยังใหม่และผ่านการใช้งานแล้ว มาทำปฏิกิริยาทางเคมี (transesterification) กับเมทานอล ด่าง จนเกิดเป็นสารเอสเตอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล
นายนพดล ศิริจงดี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฯ บอกว่า...โรงงานอุตสาหกรรมธุรกิจอาหารแปรรูปเนื้อไก่ (สระบุรี-โคราช) แห่งนี้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ด้วยขบวนการที่ถูกสุขลักษณะทันสมัยตามกรรมวิธีต่างๆ ทั้งทอด ย่าง อบ นึ่ง
ซึ่งจะมี น้ำมันพืชที่ใช้ผ่านกระบวนการผลิตอาหารแล้ว มีจำนวนมากถึง 100,000 ลิตรต่อเดือน และ เพื่อรักษาระดับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย จึงมีการตรวจสอบคุณภาพ ด้วยการวัดค่าความเป็นกรด (AV:Acid Valud)...ถ้าเกินมาตรฐานจะเอาออกจากขบวนการผลิต
ในอดีตที่ผ่านมาก็จะมีกลุ่มพ่อค้ามาประมูลซื้อน้ำมันที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขาเมื่อได้สินค้า จะนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆต่อไป ทว่าหากนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอาหารอีก ก็จะทำให้นโยบายของชาติ ที่ต้องการให้ผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศได้รับอาหารปลอดภัยไม่บรรลุความสำเร็จ และเพื่อป้องกันการวนกลับมาใช้ใหม่ที่อาจมีบางส่วนเล็ดลอดออกไป ประกอบกับ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานฯ เน้นนโยบายการประหยัดและลดต้นทุนการผลิตให้กับองค์กร
บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) จึงเริ่มโครงการผลิต “ไบโอดีเซล” ลักษณะ ชุมชนภาคเกษตร ตามระบบในทางเคมีวิศวกรรม แล้วนำมาใช้กับกิจการทั้งขนส่งอาหารไปยังฟาร์มเครือข่าย รถส่งเอกสาร รถยก ฯลฯ ให้เป็นต้นแบบหรือนำร่อง
ซึ่งเดือนหนึ่งสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลได้ประมาณ 35,000 ลิตร เมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็จะขยายโครงการไปยังโรงงานที่โคราชและมีนบุรีในอันดับต่อไป
นายกฤษฎา โทษาธรรม ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมระบบ เผยถึงขบวนการผลิตไบโอดีเซล ที่ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า เริ่มจากนำน้ำมันพืชที่ผ่านการใช้แล้ว มาทำอุณหภูมิใส่สารเคมีคือ เมทานอลและอื่นๆ พออุณหภูมิได้ตามกำหนด จึงโหลดสารเคมีเข้าทำปฏิกิริยาซึ่งใช้เวลา 30 นาที ช่วงนี้น้ำมันพืชจะเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซล
จากนั้นนำเข้าสู่ขบวน การแยกกลีเซอรีน ซึ่งใช้ เวลา 2 ชม.นำกลับมาทำปฏิกิริยาอีกรอบ ครั้งนี้ใช้เมทานอลกับด่างทำปฏิกิริยา โดยใช้เวลา 10 นาที ส่งเข้าสู่การแยกกลีเซอรีน เสร็จแล้วเข้าสู่ขบวนการล้างน้ำเพื่อกำจัดสาร 4 รอบ ขั้นตอนนี้จะได้ชั้นไขสบู่และน้ำ นำมาแยกจึงได้ไบโอดีเซลที่ยังคงมีความชื้น จึงต้องใช้ความร้อนที่ 105 ํC ไล่ความชื้น เป็นอันว่า ได้ไบโอดีเซลคุณภาพ ซึ่งได้รับรองมาตรฐาน ไบโอดีเซลชุมชน จากกรมธุรกิจพลังงาน
จากการทดลองใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อหันมาดีดลูกคิดรางแก้วหักลบแล้ว คุณนพดลแอบกระซิบว่า สามารถประหยัดเม็ดเงินที่ต้องสั่งนำเข้าน้ำมันได้ไม่มากน้อยแค่ 80-90 ล้านบาท /ปีเท่านั้นเอง
โอ้ว...อุแม่เจ้า...โบนัสปลายปีของพนักงานเริ่มส่งกลิ่นหอมกรุ่นแล้ว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=109919