เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 51
กว่า 40 ปี...ที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการผลิตกล้วยไม้ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากมาย โดยในปี 2550 ที่ผ่านมาไทยส่งออกดอกกล้วยไม้ปริมาณ 24,564 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,545 ล้านบาท และยังส่งออกต้นกล้ากล้วยไม้อีกกว่า 500 ล้านบาท รวมมูลค่าส่งออกปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ถ้าเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดกล้วยไม้โลกที่มีเป็นหมื่นล้านแล้วละก็ ถือว่าไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยมาก ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ปีละ 10,000 ล้านบาท ให้ได้ภายในปี 2555 เพื่อจุดมุ่งหมายผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตกล้วยไม้เขตร้อนของโลก ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกล้วยไม้แห่งชาติขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเลขานุการและมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ร่วมกัน กำหนดแนวทางการพัฒนากล้วยไม้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาการผลิตการตลาดกล้วยไม้อย่างยั่งยืน
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ถ้ามองในภาพรวมแล้วการส่งออกกล้วยไม้ของไทยมีการเติบโตแต่ยังไม่ต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งมาจากคุณภาพสินค้ายังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ทำให้ตลาดยังไม่เชื่อมั่น ดังนั้น จำเป็นต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์และการจัดการดูแลสวนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้รวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จะได้ช่วยกันพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดกล้วยไม้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่น กลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จังหวัดราชบุรี ที่มีการรวมกลุ่มกันพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ส่งออกสร้างรายได้แต่ละปีจำนวนมากทีเดียว สวนกล้วยไม้ของคุณชุมพล พรหมปรานพร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกกล้วยไม้จังหวัดราชบุรี เป็นตัวอย่างเกษตรกรที่สามารถพัฒนาคุณภาพการผลิตกล้วยไม้จนสามารถสร้างกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นายชุมพล พรหมปรานพร เจ้าของสวนกล้วยไม้ตัวอย่าง เล่าว่า เริ่มปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตั้งแต่ปี 2525 ในพื้นที่ 1 ไร่ ในเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้ย้ายมาทำสวนที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ในพื้นที่ 30 ไร่ ปลูกกล้วยไม้สกุลหวายตัดดอก และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จังหวัดราชบุรีเมื่อปี 2541 ทำให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องกล้วยไม้จากสมาชิกรายอื่น ประกอบกับได้พัฒนาระบบการเลี้ยงและดูแลกล้วยไม้อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถพัฒนาพันธุ์ใหม่ขึ้นมา 2 พันธุ์และได้จดลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ พันธุ์ซูก้า และมาดามพิงค์ ที่มีความโดดเด่นกว่ากล้วยไม้พันธุ์ทั่ว ๆ ไปตรงที่ทนต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นอย่างดี เลี้ยงง่าย มีความดก ออกดอกสม่ำเสมอ และที่สำคัญมีก้านแข็งอยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งเหมาะสมในการทำตลาดส่งออกอย่างมาก ขณะนี้ได้ลองผลิตออกมาทด สอบตลาดยุโรปและญี่ปุ่นได้ระยะหนึ่งแล้วได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ส่วนราคาขายจะขึ้นอยู่กับขนาดของช่อดอก มีตั้งแต่ 5-9 บาทต่อช่อ นับว่าเป็นราคาที่ดีกว่าพันธุ์เก่า เพราะเป็นพันธุ์ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ไม่เหมือนใคร ทำให้สามารถกำหนดราคาขายได้เอง
“การปลูกกล้วยไม้นอกจากต้องคำนึงถึงพันธุ์ที่ปลูกแล้ว วิธีการดูแลก็สำคัญ ซึ่งที่สวนจะเน้นเรื่องระบบการจัดการสวนที่ดี โดยดูแลรักษาความสะอาดโรงเรือน มีระบบควบคุมน้ำเข้า-ออกสวน นอกจากนี้ได้ผสมปุ๋ยใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญของการทำสวนกล้วยไม้คือต้องรู้ว่าตลาดต้องการกล้วยไม้แบบไหน เราจะได้ผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตลาด” ชุมพล กล่าว
หากผู้ใดอยากแลกเปลี่ยนความรู้ ติดต่อสอบถามได้ที่ นายชุมพล พรหมปรานพร พำนักอยู่ ณ บ้านเลขที่ 1/3 หมู่ 4 ต.โคกตะบอง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181489&NewsType=1&Template=1