เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 51
เขาอ้ายโป๊ด ตำบลซับตะเคียน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ สภาพเป็นเขาหินปูนพื้นที่ประมาณ 800 ไร่
อดีตช่วงปี 2535 ปริมาณน้ำซับในลำห้วยเขาอ้ายโป๊ดเกิดความแห้งแล้ง สาเหตุมาจาก การบุกรุกเผาทำลายป่า เพื่อทำไร่อ้อย มันสำปะหลังและข้าวโพด รวมไปถึง การทำสัมปทานเหมืองหินอ่อน จากนายทุนนอกพื้นที่
ต่อมาชาวบ้าน...หมู่ 4, 5 และ 6 ซับตะเคียน เกิด ความตระหนักถึงภัยที่จะลุกลามสร้างความเดือดร้อนเป็นทวีคูณ จึงช่วยกันดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพป่าให้อุดมไปด้วยสมุนไพรและสัตว์ป่า กันอย่างต่อเนื่อง และรวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาอ้ายโป๊ด” ขึ้น
ล่วงลุถึงปี 2543 คณะกรรมการหมู่บ้านเขาอ้ายโป๊ดได้ขออนุญาต กรมป่าไม้ ดำเนินการจัดตั้งเป็นป่าชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลกันเป็นอย่างดี ทำให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง และสิ่งที่โดดเด่นแสดงถึงความสำเร็จในการ พลิกฟื้นผืนป่า คือการพบ หอยหอม เป็นจำนวนมากในป่าแห่งนี้ชาวชุมชนเขาอ้ายโป๊ด เกือบทุกครัวเรือนได้นำหอยหอมมาบริโภคเป็นอาหารหลัก และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า...อร่อย
หอยหอม (Brotia sp.)...เป็น หอยทากบกฝาเดียว สกุล Cyclophorus speciosus (Philippi) อยู่ในกลุ่ม Prosobranchia ประเทศไทยพบจำนวน 137 species 50 genera มีขนาดลำตัวเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 5-7 เซนติเมตร ขยายพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมีย (หอยบางชนิดมี 2 เพศในตัวเดียวกัน แต่หอยหอมแยกเพศคนละตัว)
เปลือกของหอยจะมีรอยควั่นจากก้นหอยไปถึงปลายปาก มีสีประปรายออกน้ำตาลอ่อนไปถึงน้ำตาลเข้ม (ชุมชนที่นั่นนำเปลือกที่เหลือทิ้งมาทำเป็น พวงกุญแจ และ ของที่ระลึก สร้างรายได้ให้กับครอบครัว)
ปากหอยจะม้วนป้านออกมา ที่เด่นชัดเมื่อมันออกคืบคลานจะมีหนวด 1 คู่ ตาอยู่ที่โคนหนวดจะโผล่ปูดออกมาเห็นเด่นชัดฝาปิด (operculum) ยึดติดแน่นกับด้านบนของส่วนท้าย (tail)...และ ปิดสนิทเมื่อหอยหดตัวเข้าไปอยู่ในเปลือกหอยทากชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ตามหลืบ ซอกโขดหินปูน ให้เป็นแหล่งกำบังตัวหลับภัยจาก คนและสัตว์อื่นๆ ทำให้ประชากรหอยสามารถสืบสานเผ่าพันธุ์อยู่ได้อย่างยั่งยืน แม้ว่าชาวบ้านจะจับมาเป็นอาหารบ้าง ก็ไม่ขัดกับการ อนุรักษ์ แต่อย่างใด
นายชลธิศ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ เล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า...เมื่อหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยได้ทดลองศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่าง หอยหอมกับชุมชนของเพอริไฟตอน ในแหล่งน้ำ จากนั้น ทำการเก็บตัวอย่างมาวัดปริมาณ คลอโรฟิลล์เอ แล้วจึงวิเคราะห์อาหารในระบบทางเดินอาหารพบว่า สาหร่ายที่พบมากในทางเดินอาหารของหอยหอม คือ สาหร่ายสีเขียว กลุ่ม Chlamydomonas-like cell เป็นจำนวนมากที่สุด รองลงมาพบ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน คือ Chroococcus sp. และมีไดอะตอมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การศึกษาวิจัยนี้ทำให้ทราบว่า หอยหอมกินสาหร่ายเป็นอาหาร นี้เอง ทำให้ตัวของมัน เกิดความหอม เมื่อชาวบ้านนำมาบริโภคจึงมีรสชาติอร่อย...จึงเป็นที่มาของนามว่า “หอยหอม”
ผู้สนใจ....อยาก เปิบ หรือ ดูชม และ หอมหอยตัวเป็นๆ และเดินป่า กริ๊งกร๊างหาคณะกรรมการป่าชุมชนเขาอ้ายโป๊ด 0-3678-8600, 08-9087-9925 ในเวลาราชการ...แถมอีกนิดที่นั่นมี สมุนไพร หลากหลายขายด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=110059