'กลอย' หน้าฝนมีพิษมาก นักวิจัยแนะไม่ควรบริโภค
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 51
'กลอย' หน้าฝนมีพิษมาก นักวิจัยแนะไม่ควรบริโภค
กลอย พืชชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน มีคนนิยมบริโภคกันเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านแบ่งประเภทของกลอยตามลักษณะของลำต้นและตามสีในเนื้อหัวกลอยคือ กลอยข้าวเจ้า ลักษณะของเถาและก้านใบสีเขียว ส่วนกลอยข้าวเหนียว เถาเป็นสีน้ำตาลอมดำ เมื่อนำหัวกลอยมาปอกเปลือกและหั่นเป็นแว่นบาง ๆ พบว่ากลอยข้าวเจ้ามีเนื้อสีขาวนวลและเนื้อหยาบกว่ากลอยข้าวเหนียว ซึ่งมีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม เนื้อเหนียวและรสชาติดีกว่ากลอยข้าวเจ้า ดังนั้นคนจึงนิยมรับประทานกลอยข้าวเหนียวมากกว่า
อย่างไรก็ตาม มีข่าวอยู่เสมอว่า มีผู้บริโภคกลอยแล้วเกิดเป็นพิษขึ้น กลอยเป็นพืชที่มีพิษอยู่บริเวณหัว และก็หัวกลอยนี่แหละที่นำมารับประทานกัน ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าหัวกลอยเป็นพืชที่มีพิษการกำจัดพิษออกก็ไม่ยากไม่เย็นแสนเข็ญ แต่ด้วยความที่คนเราไม่ชอบความยุ่งยากวุ่นวาย ชอบความสะดวกสบายมากกว่า ไม่กำจัดพิษในกลอยให้มันหมดไปเสียก่อน การนำบริโภคนั้นจึงทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว หากคนนำกลอยมาประกอบอาหารเพื่อนำมารับประทานเองแล้ว ย่อมกำจัดพิษหมดไปได้ด้วยกลัวจะเกิดอันตรายแก่ตน แต่หากเป็นพ่อค้าแม่ค้านำกลอยที่ทำสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมาจำหน่ายแล้ว ต้องระวังไว้ก่อนเพราะเขาอาจจะไม่ระมัดระวังอย่างพอเพียงในการกำจัดพิษให้หมดสิ้นไปก่อนนำมาจำหน่าย ในเรื่องการนำกลอยมารับประทานนี้มีหลายหน่วยงานออกมาเตือน
ดร.เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในหัวกลอยมีแป้งมากและมีสารพิษที่ชื่อว่าไดออสคอรีน (Dioscorine) พิษชนิดนี้จะมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งประสาทส่วนกลางมีผลต่อการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น การสัมผัสทางกาย ดังนั้นคนที่รับประทานกลอยที่มีสารพิษเข้าไปจึงมักมีอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และเมื่อประสาทส่วนกลางบีบหัวใจทำให้เกิดอาการมึนเมา วิงเวียน ใจสั่น ตาพร่า อึดอัด และเป็นลมได้ในที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษ ความต้านทานของแต่ละคน โดยมีรายงานการศึกษาพบว่าปริมาณสารพิษของหัวกลอยในแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกัน มีการศึกษาพบว่ากลอยจะมีพิษมากในช่วงที่กลอยออกดอก คือช่วงหน้าฝนประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และจะลดลงเมื่อกลอยเริ่มลงหัวในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน
ด้าน นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ปริมาณสารพิษจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เก็บ หากเป็นช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะเดือนสิงหาคมกลอยมีพิษมากที่สุด ส่วนในฤดูร้อน โดยเฉพาะเดือนเมษายนกลอยมีพิษน้อยที่สุด ดังนั้น กลอยที่จะนำมาใช้ประกอบอาหารจะต้องผ่าน ขั้นตอนการกำจัดสารพิษอย่างเพียงพอและถูกวิธี ด้วยการปอกเปลือกทิ้งแล้วหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ นำมาแช่ในน้ำเกลือประมาณ 3 วัน ระหว่างนี้ให้เปลี่ยนน้ำเกลือหลาย ๆ ครั้ง หรือแช่ในน้ำไหลใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน หรือมากกว่านี้ เพื่อให้น้ำชำระสารพิษออกให้หมดแล้วนำไปนึ่งให้สุกเพื่อประกอบอาหารต่อไป ที่สำคัญ อย่ารับประทานดิบ ๆ เป็นอันขาด
จากจุลสารสมุนไพร ของ ม.มหิดล เรื่อง “กลอย...พืชพิษที่รับประทานได้” โดย ศิริพร เหลียงกอบกิจ บอกถึงการกำจัดพิษในหัวกลอยไว้ว่า วิธีเอาสารพิษ Dioscorine ออกจากกลอย วิธีการทั่ว ๆ ไปคือปอกเปลือกหัวกลอยให้สะอาด หั่นเป็นแว่น แต่ละแว่นหนาประมาณ 1-1.5 ซม. ให้นำชิ้นกลอยที่หั่นแล้วลงไปในภาชนะหนาประมาณ 10 ซม. โรยเกลือให้ทั่วหน้า 1-2 ซม.แล้วใส่ชิ้นกลอยลงไปทำสลับกับเกลือ จนกว่าจะหมดทิ้งไว้ค้างคืน วันรุ่งขึ้นให้นำกลอยที่หมักออกมาล้างน้ำจนสะอาด จากนั้นใส่ชิ้นกลอยที่ล้างแล้วลงไปในถุงผ้าดิบหรือผ้าขาวบาง นำของหนักทับไว้เพื่อไล่น้ำเบื่อเมาของกลอยออกให้หมด ต่อไปให้นำชิ้นกลอยจากถุงผ้าเทกลับลงไปในภาชนะเดิมแล้วใส่น้ำให้ท่วมเนื้อกลอย ทิ้งไว้ค้างคืนรุ่งเช้าจึงนำชิ้นกลอยมาล้างให้สะอาดและทำซ้ำเช่นเดิม ประมาณ 5-7 วัน จึงจะปลอดภัยจากสารพิษและนำมาบริโภคหรือปรุงอาหารได้ หรือจะผึ่งแดดให้แห้งเก็บตุนไว้เมื่อจะบริโภคจึงนำชิ้นกลอยมาแช่น้ำก่อนนำไปนึ่งหรือปรุงอาหาร
มีคำแนะนำที่ควรปฏิบัติตามอย่างยิ่งคือ ปัจจุบันยังไม่มีระบบการตรวจสอบสารไดออสคอรีนในกลอยก่อนนำออกไปจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนพึงระวังคือไม่ควรรับประทานกลอยในช่วงฤดูฝนแล้วหันมารับประทานในช่วงฤดูร้อนซึ่งปลอดภัยกว่า และควรบริโภคจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือได้ มีการแจ้งแหล่งผลิตชัดเจน ตรวจสอบได้ และที่สำคัญหากรับประทานแล้วเกิดอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที
ฝากบอกไปยังพ่อค้า-แม่ค้าว่า ต้องกำจัดพิษออกจากกลอยให้ถูกวิธี ก่อนนำไปประกอบ อาหาร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181490&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น