เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 51
“ความรู้” ทุกศาสตร์เป็นสิ่งที่มีค่า ปัจจุบันการเรียนรู้มีอยู่มากมายหลายรูปแบบ ทั้งการศึกษาจากสถาบัน จากประสบการณ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ การรวบรวมจัดเก็บอย่างเป็นระบบ สะดวกง่ายต่อการนำไปใช้ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และเกษตรกรหัวก้าวหน้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ฉะนี้ ในปัจจุบันภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญ ที่จะนำเทคโนโลยีอันทันสมัย ใหม่ รวดเร็ว มาใช้เป็นแหล่งเผยแพร่ สืบค้นข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ เหล่านี้ก็เพื่อให้ ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างทันเหตุการณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงจัดทำ “ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ” ขึ้น
นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บอกว่า “ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ” TKC : Thailand Knowledge Center จะ รวบรวมความรู้ ทั้งจากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ไว้ให้สืบค้นข้อมูลสำหรับนำไปปรับประยุกต์ใช้ ในลักษณะของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อประสม
โดยมีการเชื่อมโยงไปยังแหล่งรวบรวมสารสนเทศ สาขาวิชาต่างๆ ของประเทศไทย และกระทรวงฯ ยังสร้างชุมชน นักปฏิบัติ (CoPs) กลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นศูนย์กลาง สำหรับบริการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด กระจายความรู้ อย่างเช่น ด้านการเกษตร ที่ในแต่ละปีไทยจะทำเงินตราเข้าสู่ประเทศนับล้านๆบาท
นายอุดม พานวนทิศ ผู้ใหญ่ บ้านดอกไม้แดง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านนี้มีสมาชิก 400 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ที่เหลือรับราชการและทำธุรกิจส่วนตัว ในช่วงปี'38 ชาวบ้านเริ่มขายผลิตผลได้ไม่คุ้มกับทุนที่ลงไป หลังจากได้พูดคุยจึงตกลงกันว่าจะรวมกลุ่ม ทำปุ๋ยอัดเม็ดไว้ใช้กันเองในชุมชน และขายให้กับพื้นที่ใกล้เคียง แต่ ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก พอรู้ว่าทาง TKC เปิดให้มีการ อบรมเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างการใช้คอมพิวเตอร์ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ หลังจากผ่านการอบรม กลุ่มของเราจะสร้างเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาศึกษาดูงานแลก เปลี่ยนข้อมูล และเมื่อชุมชนเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น กลุ่มจะมีโอกาสหาเทคนิควิธีใหม่ เพื่อนำมาพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพ และขายได้ราคา
ลุงประเสริฐ ทลาบุญ ปราชญ์ชาวบ้าน และประธานกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษบ้านป่าไผ่ ต.แม่โป่ง เล่าว่า นอกจากทำนา ผู้คนที่นี่ยังปลูกผักกันมาช้านาน แต่เป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ กระทั่งเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 8 ครอบครัว ปลูกผักปลอดสารพิษ
ทาง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ในโครงการพระราชดำริ ให้เมล็ดพันธุ์พืช อาทิ ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ผักคะน้า มะเขือ ผักกาด และหอมแดง มาปลูกในพื้นที่ จำนวน 2 ไร่ 2 งาน การปรับปรุงบำรุงดินจะปลูกถั่วพร้าก่อน ตามด้วยปุ๋ยคอก หลังลงเมล็ดพันธุ์จึงใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ เมื่อได้ผลิตผลจะส่งไปขายยังตลาดโรงเรียน และโรงพยาบาล ทุกวันนี้สมาชิกมีรายได้เสริมเฉลี่ยเดือนละ 3,500-4,000 บาท
ประธานกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษบ้านป่าไผ่ บอกว่า การที่มีโครงการ TKC ทำให้สามารถนำเอาความรู้ที่มีอยู่ เผยแพร่ ออกสู่สาธารณะ เปิด โอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้และนำมาพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ยกระดับวิถีชีวิตเกษตรกรไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเอง ตามแนวทางที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้เป็นแบบอย่าง
ผู้ที่สนใจเรียนรู้ร่วมกัน สามารถคลิกได้ที่ www.tkc.go.th
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=110186