โรงสีข้าวพิกุลทอง โครงการตัวอย่างหลักการรวมกลุ่มชาวบ้านแบบพึ่งพาตนเอง
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 51
โรงสีข้าวพิกุลทอง โครงการตัวอย่างหลักการรวมกลุ่มชาวบ้านแบบพึ่งพาตนเอง
โรงสีข้าวพิกุลทอง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านปูยู ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นโรงสีข้าวที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ ทรงห่วงใยและมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน จึงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ก่อตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็กกำลังการผลิต 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมงขึ้นมา พร้อมธนาคารข้าว โดยโรงสีข้าวสร้างขึ้นบริเวณของโครงการชลประทานมูโนะ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)ได้สนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน 1,598,874 บาท
โรงสีข้าวพิกุลทอง มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นสถานที่รับฝากข้าวเปลือก โดยทำหน้าที่เหมือนธนาคารข้าว รับจ้างสีข้าว ตลอดจนรวบรวมผลผลิตขายให้กับพ่อค้า โดยเกษตรกรที่มาใช้บริการจะได้รับคืนกำไรเฉลี่ยปลายปี ขณะเดียวกันก็ได้ทำหน้าที่ในการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การสีข้าว ตลอดจนการขาย ซึ่งต่อมาเกษตรกรผู้ใช้บริการโรงสีข้าวในท้องที่ตำบลเกาะสะท้อน และตำบลพร่อน อำเภอตากใบ ได้รวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและควบคุมการดำเนินงานภายในโรงสีข้าวพิกุลทอง ในเบื้องต้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนสำหรับใช้ในการดำเนินงานภายในโรงสีข้าวเป็นเงิน 52,400 บาท จวบจนกระทั่ง ถึงปัจจุบันมีสมาชิก 175 คน มีเงินฝากธนาคาร 759,603.08 บาท ทุนสหกรณ์ 763,113.66 บาท ในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างกำไรสุทธิเป็นจำนวนเงิน 14,380 บาท
การดำเนินงานโรงสีข้าวพิกุลทอง แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ การรับจ้างสีข้าว ซึ่งจะคิดค่าสีข้าวตามอัตราโรงสีเอกชน โดยคณะทำงานเป็นผู้กำหนด ส่วนผลพลอยได้จะตกเป็นของโรงสีข้าว เพื่อเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ใช้บริการปลายปี รายได้จากการสีข้าว หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะจ่ายคืนให้แก่ผู้ใช้บริการ สำหรับข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำมาสี หากมีจำนวนน้อย เกษตรกรสามารถขอแลกเปลี่ยนเป็นข้าวสารได้
กิจกรรมที่สองเป็นการรับฝากข้าว จะเปิดรับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งผู้ที่นำข้าวมาฝากจะขอคืนในรูปของข้าวเปลือกหรือข้าวสารก็ได้ และกิจกรรมสุดท้ายคือ การบริหารงานภายในโรงสีข้าวพิกุลทอง จะมีนักวิชาการสหกรณ์จากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาสเข้ามาช่วยดูแล แนะนำส่งเสริม โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเป็นผู้กำหนดหน้าที่และระเบียบการของโรงสี ส่วนคณะทำงานของโรงสีข้าวที่ทางจังหวัดได้แต่งตั้งขึ้น จะทำหน้าที่ ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้เกษตรกรไปใช้บริการในช่วงสถานการณ์ปกติ และโรงสีข้าวยังสามารถใช้งานได้เต็มกำลังการผลิต มีเกษตรกรนำข้าวมาใช้บริการสีข้าวจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โอกาสดังกล่าว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโรงสีข้าวพิกุลทอง โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการและราษฎรในพื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จ
ตลอดช่วงเวลาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรกิจกรรมที่โรงสีข้าวพิกุลทองนั้น พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริในการที่จะพัฒนาโรงสีข้าวพิกุลทองให้มีความเจริญก้าวหน้า พร้อมมีพระราชดำรัสกับผู้เฝ้าฯ รับเสด็จว่า โรงสีข้าวพิกุลทองแห่งนี้มีอายุการใช้งานมานานกว่า 20 ปีแล้ว เครื่องจักรมีสภาพทรุดโทรม ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นโรงสีขนาดเล็ก เครื่องจักร อุปกรณ์ในโรงสีเป็นของเก่า จึงอยากให้เก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ และขอให้สำนักงาน กปร.หาโรงสีที่ทันสมัยมาให้ชาวบ้านในพื้นที่แทนโรงสีข้าวเดิม แต่ขอให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยให้ไปดูแบบที่เคยสร้างที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และพิจารณาดูว่าถ้าจะสร้างในที่ตั้งเดิม พื้นที่และบริเวณจะเพียงพอหรือไม่ หรือจะต้องปรับปรุงอาคารที่ทำการใหม่เพื่อมารองรับ
นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริให้นำคณะกรรมการของสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ จำกัด ได้มีโอกาสไปเรียนรู้และศึกษาดูงานโรงสีข้าวชุมชนที่มีการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าคณะกรรมการดังกล่าวเป็นตัวแทนของชาวบ้านเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการโรงสีข้าว จำเป็นต้องมีการเสริมสร้างความรู้ และแนวทางบริหารจัดการที่ดี จึงจะสามารถบริหารงานโรงสีข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ได้ตามวัตถุประสงค์
โรงสีข้าวพิกุลทอง นับเป็นอีกหนึ่งโครงการตัวอย่างที่ดี ที่จะทำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติ สู่หลักการรวมกลุ่มชาวบ้านในชุมชนเพื่อการพึ่งพาตนเอง ร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ พระราชทานไว้ เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้น้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ และร่วมสร้างสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ให้เกิดสันติสุขอย่างยาวนานและยั่งยืน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181702&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น