ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ขยายผลการเลี้ยงกบนาสู่ราษฎร
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 51
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ขยายผลการเลี้ยงกบนาสู่ราษฎร
การเลี้ยงกบ ปัจจุบันเป็นที่สนใจแก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะกบเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้เวลาน้อย ลงทุนน้อย ดูแลรักษาง่าย และจำหน่ายได้ราคาคุ้มกับการลงทุน โดยเฉพาะในปัจจุบันมีตลาดต่างประเทศที่ต้องการสินค้ากบเปิดกว้างมากขึ้น กบนาที่เป็นผลผลิตของเกษตรกรเมืองไทยจึงมีโอกาสส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันปริมาณกบที่อยู่ตามแหล่งธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลงทุกที ๆ เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยของมันถูกเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์รวมทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืช การใช้ยากำจัดวัชพืช กำจัดปูนา ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำลายพันธุ์กบในธรรมชาติให้หมดสิ้นไป แหละนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรีทำการศึกษาการเลี้ยงกบนาในบ่อดินขึ้น
การเลี้ยงกบนาในบ่อดิน ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ พัฒนา มาจากบ่อของชาวบ้าน โดยมีพื้นที่ขนาด 4.0 x6.0 ตารางเมตร ขุดแอ่งน้ำตรงกลางขนาด 2.0 x3.0 ตารางเมตร มีความลึก 50 ซม. ก่อล้อมขอบบ่อด้วยอิฐบล็อกสูง 1 เมตร ต่อด้วยตาข่ายไนลอนด้านบน ไม่มีหลังคาคลุมแต่ปลูกร่มไม้ให้ร่มเงา พันธุ์กบนำมาจากเกษตรกรที่เก็บรวบรวมลูกพันธุ์จากธรรมชาติในจังหวัดจันทบุรีและฉะเชิงเทรา เลี้ยงด้วยอาหารประเภท ปลาเป็ดสับละเอียดสำหรับลูกกบเล็กวางบนกระดานลอยน้ำให้ 2 เวลาเช้าและเย็น กบใหญ่ให้ปลาเป็ดสับเป็นชิ้นขนาด 1 นิ้ว วางบนกระดานลอยน้ำ โดยให้ 2 เวลาเช้าและเย็น กบมีการเจริญเติบโตดี โดยใช้เวลาเลี้ยงเป็นกบเนื้อ 5-6 เดือน พ่อแม่พันธุ์ใช้เวลาเลี้ยง 12-14 เดือน
ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการเลือกสถานที่ที่จะสร้างคอกกบหรือบ่อเลี้ยงกบนั้นควรเป็นที่ที่อยู่ใกล้บ้านสะดวกต่อการดูแลรักษาและป้องกันศัตรู เป็นที่สูงที่ดอนเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ราบเสมอ สะดวกต่อการสร้างคอกและแอ่งน้ำในคอกใกล้แหล่งน้ำเพื่อสะดวกต่อการถ่ายเทน้ำ ให้ห่างจากถนน เพื่อป้องกันเสียงรบกวน กบจะได้พักผ่อนเต็มที่และโตเร็ว
สถานที่ที่จะทำบ่อเลี้ยงกบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ่อปูนหรือคอกเลี้ยง จะต้องอยู่ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัยมากนัก เพราะศัตรูของกบมีมาก โดยเฉพาะกบนั้นเมื่อตกใจเพราะมีภัยมา มันจะไม่ส่งเสียงร้องให้เจ้าของรู้เหมือนสัตว์อื่น ๆ ศัตรูของกบส่วนมากได้แก่ งู นก หนู หมา แมว
กบที่เหมาะสมจะนำมาทำการเพาะเลี้ยงนี้ ได้แก่ กบนา ซึ่งถ้าเลี้ยงอย่างถูกต้องตามวิธีการและใช้เวลาเพียง 4-5 เดือน จะได้กบขนาด 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม เป็นกบที่มีความเจริญเติบโตเร็ว โดยมีอัตราการแลกเปลี่ยนอาหาร 3.4 กิโลกรัมจะได้เนื้อกบ 1 กิโลกรัม ทั้งยังเป็นกบที่มีผู้นิยมนำไปประกอบอาหารบริโภคกันมากกว่ากบพันธุ์อื่น ๆ
ลักษณะของกบนานั้นตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่ากบตัวเมีย และส่วนที่เห็นได้ชัดก็คือกบตัวผู้เมื่อจับพลิกหงายขึ้นจะเห็นมีกล่องเสียงอยู่ใต้คางแถว ๆ มุมปากล่างทั้งสองข้าง ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ กบตัวผู้จะเป็นผู้ส่งเสียงร้อง และในขณะที่ร้องนั้นส่วนของกล่องเสียงจะพองโตและใส ส่วนตัวเมียนั้นจะมองไม่เห็นส่วนของกล่องเสียงดังกล่าว กบตัวเมียก็ร้องเช่นกันแต่เสียงออกเบา ถ้าอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ กบตัวเมียที่มีไข่แก่จะสังเกตเห็นส่วนของท้องบวมและใหญ่กว่าปกติ ขณะเดียวกันที่กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องบ่อยครั้งและสีของลำตัวออกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือมีสีเหลือง ที่ใต้ขาเห็นชัดกว่าตัวเมีย ถึงอย่างไรสีของกบจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย
ปัจจุบันกบเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ตลาดต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยต่างประเทศ เช่น สเปน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฯลฯ มีการสั่งเข้าปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนไม่น้อย สำหรับผู้เลี้ยงกบหากหลีกเลี่ยงช่วงที่มีการจับกบในแหล่งธรรมชาติก็จะช่วยลดปัญหาด้านราคาตกต่ำได้
อย่างไรก็ตามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยเลี้ยงตัวตามธรรมชาติของกบลดลง ดังนั้นแนวโน้มการเลี้ยงกบในบ่อในอนาคต จึงนับได้ว่ามีลู่ทางแจ่มใส ไม่มีปัญหาด้านการตลาด และราคาก็ดีมีผลคุ้มค่าต่อการลงทุน สามารถส่งเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งการศึกษาแนวทางการเลี้ยงของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นอีกหนึ่งของวิทยาการในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงนำไปปฏิบัติใช้เพื่อสร้างอาชีพและการมีอาหารโปรตีนภายในครัวเรือนเพื่อบริโภคอย่างพอเพียงอีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181703&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น