รับมือ FTA ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทยลดต้นทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโคนม
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 51
รับมือ FTA ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทยลดต้นทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโคนม
ปัจจุบัน หลายประเทศได้หันมาจับมือเปิดเสรีการค้าระหว่างกันมากขึ้น ประเทศไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และได้มีการปรับตัวในเชิงรุก คือ การจัดทำเขตการค้าเสรี หรือ FTA เพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้าเพื่อเชื่อมประตูการค้าสู่ประเทศอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันได้มีการลงนาม กรอบความตกลงการค้าเสรีกับประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตามจากการเปิดการค้าเสรี FTA กับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต เนื่องจากประเทศคู่พันธมิตรทั้งสองเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมเหนือกว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยอย่างไม่สามารถเทียบชั้นได้ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านต้นทุนการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต โดยเฉพาะนมผงซึ่งมีราคาถูก เมื่อนำมาทำเป็นน้ำนมคืนรูปจะมีราคาถูกกว่าน้ำนมดิบที่เกษตรกรจำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูปภายในประเทศ นำไปสู่การทดแทนน้ำนมดิบ จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการปฏิเสธรับซื้อและปัญหานมล้นตลาดเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจำต้องเลิกเลี้ยงไปในที่สุด
ดังนั้น หากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการหาทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการเลี้ยงโคนมและสร้างความเข้มแข็งขององค์กร การรณรงค์ให้ประชาชนผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคนมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประเทศชาติ นอกเหนือจากเพื่อสุขภาพเป็นหลักแล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยจะไม่อาจหลีกพ้นวิกฤตินั้นไปได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุดรับทราบมาว่าทางชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด และสมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อหาลู่ทางในการจัดทำโครงการการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมด้วยวิธีที่ปฏิบัติได้และเห็นผลจริงเพื่อของบอุดหนุนจากภาครัฐรองรับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี FTA ในอนาคต
โดยโครงการการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมด้วยวิธีที่ปฏิบัติได้และเห็นผลจริงนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเลี้ยงโคนมและการผลิตน้ำนมคุณภาพดี ซึ่งจะทำให้เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และการแข่งขัน รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สร้างระบบการเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานและนำไปใช้ได้จริง ๆ โดยนำนักวิชาการลงไปสู่ปัญหาจริง ซึ่งจะใช้ผลงานวิจัยในการแก้ปัญหาในฟาร์ม ขณะเดียวกันนักวิชาการที่ลงไปสู่ปัญหานั้น จะกลับมาทำการวิจัยเพิ่มเติมตรงปัญหาและกลับไปใช้แก้ปัญหาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดองค์ความรู้และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมของไทยมากยิ่งขึ้น
สำหรับการดำเนินงานโครงการนั้นจะมีทีมที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของสหกรณ์เข้าไปส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในด้านสุขภาพโคนม การจัดการฟาร์ม ตลอดจนสุขลักษณะการรีดนมที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ดูแลการจัดการเพื่อให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพระดับฟาร์ม ผลผลิต ระดับฝูง การตรวจสอบคุณภาพ น้ำนมดิบ และการสนับสนุนทางวิชาการจากสหกรณ์ จำนวน 20 สหกรณ์ สหกรณ์ละ 50 ฟาร์ม ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศโดยการจัดทำโครงการการให้บริการโปรแกรมการจัดการทุกด้าน โดยในแต่ละเดือนจะลงไปในฟาร์มเพื่อตรวจสอบปัญหา เก็บข้อมูลต่าง ๆ ส่งตัวอย่างวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และทำการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการในด้านต่าง ๆ การจัดการฟาร์มและต้นทุนฟาร์ม ตลอดจนระบบการบันทึกข้อมูลเพื่อสร้างระบบการจัดการสุขภาพโคนม สุขภาพเต้านมและการรีดนม การจัดการด้านอาหารและคุณภาพน้ำนมดิบ การผสมพันธุ์และการคัดทิ้งแม่โค การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนตามโปรแกรมการจัดการทุกด้าน พร้อมคู่มือ และทำแผนปฏิบัติการ (Action plan) สำหรับให้แต่ละฟาร์มปฏิบัติตามเป็นรายเดือน เพื่อให้เกษตรกรมีระบบในการบริหารจัดการฟาร์ม
ทางด้าน นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อให้โครงการนี้เป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมและโดยเร็วทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ประกอบด้วยตัวแทนจากชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด สมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ คัดเลือกสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงคัดเลือกที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนการบริหารจัดการฟาร์มโคนมในสหกรณ์โคนมและจัดทำโครงการการให้บริการโปรแกรมการจัดการทุกด้าน พร้อมทั้งจัดสัมมนาโครงการและติดตามประเมินผล
โดยมีตัวชี้วัดคุณภาพ คือ ด้านคุณภาพน้ำนมดิบ ด้านการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพโดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถทำได้ 100% ในปีที่ 5-6 ของโครงการ รวมไปถึงเกษตรกรมีคู่มือในการบริหารจัดการฟาร์มและสามารถบันทึกข้อมูล ได้แก่ จำนวนโคนม ปริมาณการให้น้ำนมดิบ การให้อาหารโคนม การผสมเทียม การดูแลสุขภาพสัตว์ และบันทึกบัญชีฟาร์ม (ต้นทุนการผลิต, ประสิทธิภาพการผลิต) โดยตัวเกษตรกรเอง 100%
“คาดว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฟาร์มโคนม ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้รู้ศักยภาพของการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยว่าทำได้เท่าไร และลดดุลการค้าการนำเข้านมผงจากต่างประเทศลง คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ได้จริง และนำปัญหากลับมาวิจัยต่ออย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการนำร่องที่ในที่สุดจะขยายผลให้เกษตรกรทำต่อไปด้วยตนเองได้ตลอดไป” นางสาวสุพัตรา อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=181800&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น