เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 51
ปาล์มน้ำมัน (Oil palm) จัดเป็นพืชเศรษฐกิจ มีถิ่นกำเนิดอยู่ใน ทวีปแอฟริกา อยู่ในตระกูล ปาล์ม มีลำต้นเดี่ยว ลักษณะคล้ายต้นตาล ใบเป็นรูปก้างปลา โคนกาบใบคล้ายหนามแต่ ไม่คมมาก พืชชนิดนี้แยกเพศ ต้นที่เป็นเพศผู้ก็จะให้เกสรตัวผู้เพียงอย่างเดียว ส่วนต้นที่ให้เกสรตัวเมียจึงจะติดผลเป็นทะลายเกาะติดกันแน่น
น้ำมันจากผลปาล์ม สามารถนำมาแปรรูปใช้ใน การประกอบอาหาร เช่น น้ำมันเนย ทั้งยัง ใช้ผสมในไบโอดีเซล ด้วย ประเทศไทย มีการปลูกทางภาคใต้และภาคตะวันออก พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ส่งเสริม ให้เกษตรกรปลูกเป็น ปาล์ม น้ำมันลูกผสมเทเนอรา
ในช่วงภาวะวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพง บ้านเราต้องใช้เงินซื้อ น้ำมันดีเซล จากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า ปีละประมาณ 270,000 ล้านบาท และ ยังมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ฉะนั้นด้วยเหตุผลนี้ นายสุดประสงค์ สุวรรณเลิศ ผู้ อำนวยการสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดทำผลงานวิจัยใน “โครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสม เทเนอรา DXP เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมคุณภาพดี” ซึ่งเป็นการผสมพันธุ์ปาล์มน้ำมันจาก 2 สายพันธุ์ คือ ดูรา (Dura) ใช้เป็นแม่พันธุ์ ผลมีเนื้อชั้นนอก 35-60% มีกะลาหนา 2-8 มิลลิเมตร เนื้อในหนาไม่มีเส้นใย กับพ่อพันธุ์ ฟิสิเฟอรา (Pisifera) มีลักษณะผลไม่มีกะลา เนื้อชั้นนอกหนา 70-95% เนื้อในบางมีเยื่อรอบกะลา
ผู้อำนวยการสถานี วิจัยสิทธิพรกฤดากร บอก อีกว่า แม่พันธุ์ดูรา (Dura) นั้นทาง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้นำมาจาก ประเทศมาเลเซีย และปลูกไว้ที่ สถานีสิทธิพรกฤดากร อำเภอบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นโอกาสดีที่เรานำไปทดสอบคัดเลือก โดยจัดทำแปลงรวบรวมสายพันธุ์ไว้ที่แปลงจากนั้นนำ สายพันธุ์ฟิสิเฟอรา (Pisifera) มาผสม กันในแปลง...กระทั่งกลายมาเป็น DxP เทเนอรา (Tenera) ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมจากทั้งสองสายพันธุ์ มีลักษณะผลออกมามีเนื้อชั้นเปลือกนอก 60-90% ของน้ำหนักผล กะลาบาง มีเส้นใยรอบกะลา ที่ให้ผลผลิตที่สูงกว่าสายพันธุ์เดิมๆและเหมาะสมกับทุกสภาพพื้นที่ในการนำไป ปลูก
ในคาบเวลาเดียวกัน มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ได้วิจัยเกี่ยวกับพัฒนาปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง รศ.ดร.เทพ พงษ์พานิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชุมพร ได้ร่วมมือกับ บริษัทอาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ผลิตกล้าปาล์มคุณภาพดีใน “โครงการความร่วมมือสหกิจศึกษาทางวิชาการเกษตร” ตั้งอยู่พื้นที่อำเภอละแม 250 ไร่ อำเภอสวี 37 ไร่ อำเภอรัตภูมิ 10 ไร่ และอำเภอควนกาหลง จังหวัดชุมพร อีกจำนวน 20 ไร่
โดยการนำ ลูกผสม DxP เทเนอรา มาใช้ใน โครงการและยังพัฒนาอีกหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ Deli x Nigeria มีคุณสมบัติ ทะลายสดให้ ผลผลิต 4 ตันต่อไร่ต่อปี ทนแล้ง เหมาะกับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง พันธุ์ Compact ลักษณะเด่น มีต้นเตี้ยเก็บผลผลิตง่าย ทางใบสั้นเหมาะกับพื้นที่ ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในบางจังหวัด
ส่วนอีกพันธุ์หนึ่ง เป็น สายพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 ต้นเตี้ย ทรงพุ่มปานกลาง แต่ทนแล้งให้ผลผลิตดี แม้จะมีสภาพที่ไม่เหมาะสม ผลดิบสีดำ ผลสุกจะมีสีแดงส้ม และ ให้น้ำมันดิบไม่ต่ำกว่า 26-28% ต่อ ทะลาย ซึ่งทุกสายพันธุ์เป็นที่ยอมรับและรับรอง โดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้นำเข้าสู่โครงการ “เปลี่ยนนาร้างมาเป็นนาปาล์ม”
ผู้สนใจสามารถชมปาล์มน้ำมันได้ที่งาน “75 ปีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-เชียงใหม่” ในวันที่ 4-10 ธันวาคม 51 สอบถามข้อมูลที่ 0-5387-3397 www.mju.ac.th
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=110832