พัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์สู่มาตรฐานสากล
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 51
พัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์สู่มาตรฐานสากล
การปรับระบบการผลิตที่เคยพึ่งพาแต่สารเคมีหันมาสู่วิถีธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถผลิตได้เอง นอกจากจะลดต้นทุนการผลิตได้แล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเองรวมถึงผู้บริโภค และยังช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นด้วย ที่สำคัญสินค้าเกษตรอินทรีย์กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสินค้าอินทรีย์สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าสินค้าเกษตรปกติอีกด้วย
นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤติอาหารขาดแคลน ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งขับเคลื่อนสร้างระบบความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากลมากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของภูมิภาครองรับความต้องการของตลาดโลกที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 20-30% ต่อปี และเพื่อให้งานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สูงสุด กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จึงร่วมมือทางวิชาการกับ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่มีแนวคิดเปลี่ยนภาคการเกษตรแบบใช้สารเคมีให้เป็นเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งลดการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี หรือส่งเสริมให้ความรู้ในการใช้ที่เหมาะสมถูกต้อง
การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จะช่วยลดภาระการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมีกว่า 50% หรือไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และยังช่วยลดรายจ่ายทางสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาพที่ยั่งยืนของคนไทย การแปลงนโยบายเกษตรอินทรีย์สู่การปฏิบัติ ควรทำใน 2 ลักษณะ คือ การผลิตเกษตรอินทรีย์ในระดับเกษตรกรรายย่อยที่เน้นการพึ่งพาตนเองอยู่บนความหลากหลายของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของชุมชน ส่วนการผลิตเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล ที่เป็นการผลิตเฉพาะกลุ่มธุรกิจ ควรเน้นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ด้วยเทคโนโลยีควบคุมสภาวะแวดล้อม เนื่องจากแนวโน้มการบริโภคสินค้าในตลาดโลก เริ่มหันมาบริโภคสินค้าปลอดสารพิษมากขึ้น ยิ่งเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทย
ด้าน นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า จากรายงานสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่ทำการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก และนำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางเกษตรเป็นเงินถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี ผลของการใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ในแต่ละปีมีเกษตรกรเสี่ยงต่ออัตราการเกิดโรคมะเร็งมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ เนื่องจากยาฆ่าแมลงทำให้เกิดความเสียหายต่อระดับดีเอ็นเอ (DNA) ในเครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จึงถือเป็นทางออกที่สำคัญของการสร้างสุขภาพในกลุ่มเกษตรกรไทย สำหรับข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่าง 2 หน่วยงานครั้งนี้ จะช่วยให้สังคมตระหนักและเห็นความสำคัญถึงการเปลี่ยนระบบการผลิตภาคการเกษตรเคมี เป็นระบบเกษตรที่ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่ทำการผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านอาหารและสุขภาพของผู้ผลิตผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะนำพาให้ภาคเกษตรไทยก้าวไกลสู่ตลาดสากลมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=182020&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น