เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 51
ปัจจุบันคนไทยสนใจเรื่องสุขภาพ และเริ่มกลัวเกรงในโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะ “ไขมันอุดตันในเส้นเลือด” ที่มีสาเหตุมาจาก “การกิน” ทำให้พิถีพิถันเลือก “เปิบ” อาหาร โดยเน้นว่าจะต้องปลอดสารปนเปื้อน ยาปฏิชีวนะให้มากที่สุด
ส่งผลให้คนเลี้ยง “หมู” ต้องปรับทิศเปลี่ยนทาง จากเดิมที่ชอบ “แอบ” ใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมลงอาหาร และเอาไปให้หมูกิน เพื่อเวลาส่ง “ฉี” (ฆ่า) เนื้อจะได้สี “แดง” ชั้น “ไขมัน” น้อยน่า “หม่ำ” ค่านิยมเหล่านี้เริ่ม “ลดน้อยถอยลง” ส่วนหนึ่งก็ด้วยการที่ภาครัฐออกมารณรงค์ส่งเสริม ให้คนไทยได้กิน “อาหารที่ปลอดภัย” พร้อมกับทำให้ชาวฟาร์มหมูมีสามัญสำนึก หรือหากยังไม่เกิดก็มีหวังต้องจบเห่ และเจ๊งไม่เป็นท่าอย่างแน่นอน และเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรผู้เลี้ยง กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วิจัยสร้าง “สุกรพันธุ์เชียงใหม่ 1” ขึ้น
นายประภาษ มหินชัย นักวิชาการสัตวบาล 8 ว. (ปรับปรุงพันธุ์สัตว์) ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ บอกกับ “หลายชีวิต” ว่า หลังจากผู้บริโภคเกิดกระแสตื่นตัวในเรื่องโทษของอาหารที่มีไขมัน ซึ่งหากกินมากๆ จะทำให้เกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด อ้วน และหลายโรคเกิดขึ้นได้ง่าย
เมื่อคนที่พิสมัย “หมูสามชั้น” รู้ถึงผล “เสีย” มากกว่า “ดี” ต่างเริ่มลดนิสัย “ตามใจปาก” หันมามองเนื้อที่มีไขมันน้อย ห้วงระยะเวลาคาบหนึ่งฟาร์มผู้เลี้ยงจึงหันมาขุนหมูในทิศทางที่ผิดๆ ด้วยการใช้ “สารเร่ง” เพื่อให้ชั้นไขมันน้อยลง เนื้อหมูมีสีแดงสดสวยน่ากินมากขึ้น
ฉะนี้...เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว จึงเริ่มพัฒนาสุกรที่มีค่าพันธุกรรม โดยในระยะแรก เริ่มผสมข้ามระหว่างพ่อพันธุ์ดูรอค หรือ “เปียแตรง” ผสมกับแม่พันธุ์ลูกผสมสองสาย “ลาร์จไวท์ แลนด์เรซ” ตามที่ “หลายชีวิต” เคยนำเสนอไปแล้วนั้น
เพื่อให้ได้พ่อพันธุ์สุกรดูรอค ที่คุณสมบัติเยี่ยม ช่วงเวลานี้ก็ยังมีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการรวมเอาลักษณะเด่นของสุกร ดูรอคสามสายพันธุ์คือ แคนาดา ที่อัตราการเจริญเติบโต โครงสร้างใหญ่ ขาแข็งแรงลำตัวยาว
พันธุ์เบลเยียม ให้กล้ามเนื้อเด่นชัด ปริมาณเนื้อแดงมาก และสายพันธุ์เดนมาร์ก ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารดี ทำการคัดเลือกปรับปรุงโดยนำเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาช่วยประเมินค่าการผสม พันธุ์ (Estimating Breeding Value, EBV) หรือการประเมินค่าทางพันธุกรรมที่สามารถ่ายทอดไปยังรุ่นลูก (Genotype) แบบไร้อคติที่ดีที่สุด
หรือจะกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เป็นเทคนิควิธีการรวมจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์ กระทั่งออกมาเป็นหมู “เชียงใหม่” แล้วคัดลูกสุกรชั่วอายุที่ 1 (G1) เข้าทดสอบสมรรถภาพ (performance test) เพศผู้ 50 ตัว เพศเมีย 150 ตัว เป็นพ่อและแม่พันธุ์ เพื่อผลิตสุกรชั่วอายุที่ 2 (G2) โดยการผสมพันธุ์ภายใน (inter se mating) ได้สุกร G2 คัดเลือกสุกร G2 ขึ้นทดสอบพันธุ์ เพศผู้ 50 ตัว เพศเมีย 150 ตัว คัดเลือกไว้ทำพันธุ์ จำนวนเพศผู้ 10 ตัว เพศเมีย 50 ตัว เพื่อผลิตเป็นสุกร G3, G4 และ G5
จากนั้นดำเนินการทดสอบ Homogeneity of Variance ใน G4 และ G5 เพื่อสรุปความสม่ำเสมอของพันธุกรรมที่ได้ นำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรเลี้ยง เพื่อเข้าสู่สายพาน การผลิตอาหารปลอดภัย ตามนโยบายของรัฐบาลที่วางไว้ถูกต้องตามแบบ “เป๊ะ” เพื่อใช้ทำหน้าที่ขยายเผ่าพันธุ์รุ่นลูก ส่งเลี้ยงต่อเป็น “หมูขุน” ที่ มีอัตราการเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารดี มีลักษณะรูปร่างภายนอกที่สวยงาม มัดกล้ามเนื้อเด่นชัด โครงสร้างขาแข็งแรง ลำตัวยาว ความหนาไขมันสันหลังน้อย มีความสม่ำเสมอในการถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไม่ค่อยผิดเพี้ยนจากต้นสายพันธุ์
เกษตรกรรายใดสนใจ “หมูอ้วน” สายพันธุ์ใหม่ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-5331-1709, 08-1885-8879 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=110951