ผนึกกำลังอินโดนีเซียและมาเลเซีย ฟื้นความเชื่อมั่นสินค้ายางพาราในตลาดโลก
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 51
ผนึกกำลังอินโดนีเซียและมาเลเซีย ฟื้นความเชื่อมั่นสินค้ายางพาราในตลาดโลก
สถานการณ์วิกฤติการเงินของสหรัฐ ส่งผลกระทบกับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในด้านการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ นักลงทุนชะลอการลงทุนในช่วงนี้ ทำให้สินค้าหลายรายการได้รับผลกระทบถูกฉุดราคาตกต่ำตามไปด้วยเพราะไม่สามารถส่งออกได้เหมือนเดิม สินค้าที่เห็นได้เด่นชัดในขณะนี้คือยางพาราที่มีการปรับราคาลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยมีการปรับลดจากกิโลกรัมละ 91.93 บาท เมื่อเดือนกันยายน ลงมาต่ำสุดที่กิโลกรัมละ 48.89 ในเดือนตุลาคม คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลงถึงร้อยละ 53.18
“ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในครั้งนี้ถึงแม้จะมีสาเหตุหลักมาจากวิกฤติการเงินโลก แต่ในด้านปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์-อุปทานยางยังมีความแข็งแกร่ง ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบผิดปกติ แต่ก็ได้ส่งผลกระทบกับประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก ทั้งไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย เนื่องจากคาดว่าผลกระทบนี้จะทำให้ความต้องการใช้ยางในอนาคตไม่ขยายตัวอย่างปกติในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้น ทั้ง 3 ประเทศในนามบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศและสภาความร่วมมือด้านยางระหว่างประเทศ จึงได้ประชุมหารือถึงสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำอย่างเร่งด่วน” นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรฯ กล่าว
โดยมติที่ประชุมได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาไว้ 4 มาตรการ ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ 1.เร่งรัดการปลูกแทนต้นยางเก่าที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ซึ่งทั้งสามประเทศได้ตกลงที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกแทนในปี 2552 จากปกติที่เคยปลูกแทนปีละ 7 แสนไร่ เป็น 1.06 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากพื้นที่ปลูกแทนเดิม ซึ่งจะทำให้ผลผลิตหายไปจากตลาด 2.15 แสนตัน สำหรับประเทศไทยจะปลูกแทนในพื้นที่ 4 แสนไร่ ทำให้ผลผลิตลดลง 1 แสนตันในปี 2552 มาตรการที่ 2 คือการควบคุมพื้นที่ปลูกยางใหม่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดภาวะยางล้นตลาดในอนาคต โดยไทยจะสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางในภาคใต้ไปปลูกพืชอื่นที่มีความเหมาะสมกว่า ส่วนอินโดนีเซียจะใช้วิธีควบคุมโดยการจดทะเบียน ขณะที่มาเลเซียจะไม่ขยายพื้นที่ปลูกใหม่อยู่แล้ว
มาตรการที่ 3 การชะลอการกรีดยางและการขายยาง ทั้งสามประเทศจะโน้มน้าวให้เกษตรกรใช้ระบบกรีดที่มีความถี่น้อยลง เช่น ใช้ระบบกรีด 1 วัน เว้น 2 วัน แทนระบบกรีดแบบวันเว้นวัน และมาตรการสุดท้ายทางสมาคมผู้ค้ายางฯ ของทั้งสามประเทศจะให้ความร่วมมือในการไม่ลดราคายางที่มีการตกลงไว้กับผู้ซื้อในช่วงที่ราคายางสูง และไม่บิดพลิ้วสัญญา ร่วมกับฟื้นความเชื่อมั่นทางการตลาดให้กลับมาโดยเร็ว
นอกจากมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนทั้งสี่มาตรการข้างต้น ทางกระทรวงเกษตรฯยังได้เตรียมการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องโดยจะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ยางโลกในระยะยาวอีก 10-12 ปี ข้างหน้า ประกอบกับจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนายางพาราเป็นระยะ เพื่อให้การผลิตสอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศและการส่งออก โดยเน้นการเพิ่มผลผลิตแทนการขยายพื้นที่ปลูก ที่สำคัญจะลดการส่งออกยางธรรมชาติในรูปที่เป็นวัตถุดิบ แต่จะสนับสนุนให้มีการผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปส่งออก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแทน พร้อมกันนี้จะหาทางจัดตั้งกองทุนยางพาราเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมจากการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อนำเงินไว้ใช้แก้ปัญหาในกรณีที่ยางราคาตกต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในขณะนี้มีนักวิเคราะห์คาดว่าจะกินเวลาอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2552 ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติจะขยายตัวลดลงจากปกติ จึงควรปรับปริมาณการผลิตยางให้สมดุลกับความต้องการใช้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤติราคายางขึ้นอีก รวมทั้งควรเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศทั้งในงานก่อสร้างถนน งานด้านวิศวกรรม หรือแม้กระทั่งส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อลดปริมาณยางที่ส่งออกในรูปวัตถุดิบ ที่สำคัญยังเพิ่มมูลค่าให้กับยางได้อีกด้วย ที่สำคัญไปกว่านั้นถ้าราคายางดีชาวสวนยางจะมีกำลังใจในการพัฒนาสวนยางและยังช่วยให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาไม่ต้องอพยพไปเป็นแรงงานรับจ้างที่อื่น เป็นการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนจำนวนไม่น้อยของประเทศ
ผลจากมาตรการความร่วมมือของทั้งสามประเทศในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ปรากฏว่าราคายางพาราเริ่มปรับตัวดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง จากกิโลกรัมละ 48.89 บาท ขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-65 บาท และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในอีกไม่ช้า ซึ่งหวังว่าราคายางพาราจะปรับตัวสูงขึ้นมาในระดับที่เกษตรกรพอใจโดยเร็ว เพื่อความมั่นคงในอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยในอนาคต.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=182119&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น