เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 51
ความสำเร็จในการคิดค้นวิธีกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดินและผลิตภัณฑ์ปุ๋ย/น้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนดินในเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ไม่เพียงอีกก้าวของผลงานวิจัยเด่น
ที่แปรสภาพให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ยังมีการขยายผลไปสู่เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดินไปสู่ชุมชนต้นแบบ
โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจาก รศ.ดร.เทพ พงษ์พานิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มอบหมายให้รศ.ดร.อานัฐ ตันโช อาจารย์ภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตรและผู้เชี่ยวชาญไส้เดือนดินของมหาวิทยาลัยเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ โดย รศ.ดร.อานัฐได้อธิบายถึงแนวคิดในการจัดสร้างโรงเรือนต้นแบบการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดินในระดับชุมชนว่า
โครงการนี้จะดำเนินการจัดสร้างโรงเรือนต้นแบบในพื้นที่เป้าหมาย5 แห่ง ใน จ.เชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโรงเรือนต้นแบบกำจัดขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยไส้เดือนดินในระดับ 10 ตันต่อวัน สำหรับใช้กำจัดขยะอินทรีย์ควบคู่กับการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการขยะอินทรีย์ให้แก่หน่วยงานและประชาชนในชุมชน รวมถึงเพื่อผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน
รูปแบบกำจัดขยะอินทรีย์นั้นจะเลือกใช้ไส้เดือนดินสายพันธุ์ท้องถิ่นของไทยซึ่งหาได้ง่ายและเพื่อเพิ่มมูลค่าของไส้เดือนท้องถิ่นของไทยในอนาคตในการช่วยย่อยสลายขยะอินทรีย์ให้เปลี่ยนเป็นมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน โดยในกระบวนการกำจัดขยะอินทรีย์จะไม่มีพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้องในระบบและการดำเนินงานยิ่งนานประสิทธิภาพการกำจัดยิ่งสูง ซึ่งตรงข้ามกับวิธีกำจัดขยะด้วยการฝังกลบและเตาเผา เนื่องจากตัวไส้เดือนดินที่ใช้เป็นตัวกำจัดขยะอินทรีย์เหล่านั้นเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
"ใครอยากเลี้ยงไส้เดือนเพื่อการค้าหรือเพื่อผลิตปุ๋ยหมักหรือกำจัดขยะอยากแนะนำให้เป็นสายพันธุ์ไทยมากกว่า แม้ว่ากินอาหารไม่เก่ง แต่ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศวิทยา" รศ.ดร.อานัฐกล่าวย้ำถึงสายพันธุ์ไส้เดือนดิน และระบุว่าไส้เดือนสายพันธุ์ไทยนั้นจะกินอาหารเฉลี่ย 120-150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว1 กรัมต่อวันโดยปกติไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย 1 กิโลกรัมจะมีประมาณ 1,200 ตัวจึงควรได้รับอาหารประมาณ 120-150 กรัมต่อวัน
หัวหน้าโครงการเผยต่อว่าการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ค่อนข้างง่ายและรวดเร็วในระดับครัวเรือน สามารถทำได้ทันทีหากได้รับการถ่ายทอดเทคนิควิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นในการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ชุมชนสามารถทำได้ง่าย เมื่อชุมชนยอมรับและทำตามก็จะเกิดการแยกขยะอินทรีย์กับขยะแห้งออกจากกัน และขยะอินทรีย์จะถูกนำไปทิ้งในบ่อกำจัดขยะด้วยไส้เดือนดินจนหมดจะเหลือแต่ขยะแห้งที่เทศบาลต้องจัดเก็บไปกำจัด เป็นการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ออกจากบ้านเรือนได้ทางหนึ่งและช่วยให้บ่อฝังกลบขยะของเทศบาลเต็มช้าลงนอกจากนี้โรงเรือนต้นแบบดังกล่าวจะสามารถผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินได้ไม่น้อยกว่า432 ตันต่อปี และน้ำหมักมูลไส้เดือนดินไม่น้อยกว่า 1,440,000 ลิตรต่อปี นอกจากนี้ยังใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกร ผู้สนใจ รวมถึงหน่วยงานหรือชุมชนจากทั่วประเทศเพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระดับครัวเรือนหรือชุมชนต่อไป
และในวันที่28-30 พฤศจิกายนนี้ สถานีวิทยุ มก. ร่วมกับสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดทริปพิเศษ "ทัวร์เกษตร 75 ปีแม่โจ้" เยี่ยมชม "เทคนิคการเลี้ยงไส้เดือนดิน" เชิงพาณิชย์ พร้อมฐานเรียนรู้การเกษตรอื่นๆ อีก 20 กว่าแห่งของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนใจสำรองที่นั่งได้ที่โทร.0-2942-8069-71 ต่อ 114 (รับเพียง 40 ท่าน)
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/11/11/x_agi_b001_230759.php?news_id=230759