เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 51
นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธาตุโปแตสเซียมที่ไทยมีการนำเข้าเพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยเคมีปีละไม่น้อยกว่า 5 แสนตัน จากเดิมที่มีราคาเพียง 200-300 บาท ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 1,000 บาท/ตัน จนส่งผลกระทบต่อราคาปุ๋ยภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว กรมวิชาการเกษตร ได้เสนอให้ศึกษาความเป็นได้ในการจัดทำเหมืองแร่ โปแตสเซียมในไทย โดยเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตโปแตสเซียม โดยมีแหล่งแร่ที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ จ.อุดรธานี และชัยภูมิ หากแต่ติดปัญหาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการเหมืองแร่โปแตสเซียมได้ ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีในประเทศไทยและการจัดทำเหมืองแร่โปแตสเซียมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การจัดทำเหมืองแร่โปแตสเซียมในไทยมักจะถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ซึ่งหากไทยมีการศึกษาแนวทางการจัดทำเหมืองแร่โปแตสเซียม โดยสามารถลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี น่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=182231&NewsType=1&Template=1