ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ประสบความสำเร็จขยายผลผลิตภัณฑ์สู่ราษฎร
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 51
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ประสบความสำเร็จขยายผลผลิตภัณฑ์สู่ราษฎร
จังหวัดจันทบุรีหรือเมืองจันทบูรเดิม เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทยที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จังหวัดจันทบุรีเป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียง อาหาร รวบรวมไพร่พล และต่อเรือรบ เพื่อกอบกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยา พร้อมกันนี้จังหวัดจันทบุรียังมีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านผลไม้ อัญมณี และแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นจังหวัดที่มีสิ่งที่น่าสนใจหลากหลาย ก่อให้เกิดการค้นหาคำตอบเรื่อยมา
มิเพียงเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 ขึ้นมาอีกด้วย ภายใต้การประสานงานและสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาในลักษณะ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาอาชีพด้วยการประมงการเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในรูปแบบของการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน จากยอดเขาสู่ท้องทะเล
นอกจากการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพด้านการประมงและการเกษตรเพื่อจำหน่ายผลผลิตโดยตรงแล้ว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ยังได้ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตด้านการประมงและการเกษตรแก่เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์กว่า 23 หมู่บ้าน เพื่อใช้ในครัวเรือนเป็นเบื้องต้นและจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร ผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯที่ผลิตโดยเกษตรกรได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ด้วยเหมาะที่จะซื้อไปบริโภคในครัวเรือน หรือเป็นของฝากให้มิตรสหายและผู้ที่เคารพนับถือ
ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นประกอบด้วย น้ำปลาแท้ที่ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์น้ำปลาที่ผลิตจากปลาไส้ตันหรือปลากะตัก ที่ในขบวนการผลิตจะไม่มีการผสมหรือเจือจางใด ๆ ทั้งสิ้น น้ำปลาดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดในเรื่องคุณภาพน้ำปลาจากหลายรายการในช่วงที่ผ่านมา
กะปิแท้เคยตาแดงที่ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ ที่ผลิตจากเคยตาแดง ที่รวบรวมจากบริเวณชายหาดตำบลคลองขุดและพื้นที่ใกล้เคียง เหมาะที่จะนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย โดยเฉพาะน้ำพริกกะปิ เป็นต้น น้ำสำรองพร้อมดื่ม ผลิตภัณฑ์จากลูกสำรองที่นำมาผลิตเป็นน้ำสำรองผสมดอกคำฝอยบรรจุกระป๋องพร้อมดื่ม ให้ความหอมหวานชื่นใจ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการผลิตโดยสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมคุ้งกระเบนจำกัด
นอกจากนี้ก็ยังมีระกำผง ที่ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเสม็ดโพธิ์ศรี ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากผลระกำที่มีปลูกอยู่ในตำบลคลองขุดและพื้นที่ใกล้เคียงผ่านกระบวนการปั่นและอบแห้งจนได้ระกำผง สามารถนำไปชงดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น พร้อมทั้งระกำแก้วซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเสม็ดโพธิ์ศรีเช่นกัน โดยนำเนื้อระกำมากวนและคลุกน้ำตาลห่อด้วยกระดาษแก้ว เหมาะเป็นของกินเล่น มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ถูกปากคนไทย
อีกรายการที่กำลังได้รับความนิยมของ ผู้คนโดยทั่วไป ก็คือเห็ดโคนญี่ปุ่นแช่ซีอิ๊ว ผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรตำบลรำพันดำเนินการผลิตจากเห็ดโคนญี่ปุ่น ที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงไว้เพื่อจำหน่ายในรูปเห็ดโคนญี่ปุ่นสดแล้วยังนำมาแปรรูปแช่ใน น้ำซีอิ๊ว หรือน้ำเกลือ บรรจุในขวดแก้ว เพื่อเพิ่มรสชาติและมูลค่าจากวัตถุดิบ ตลอดถึงข้าวกล้องหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผลิตข้าวแบบครบวงจรของหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ที่รวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อปลูกข้าวหอมมะลิสำหรับบริโภคในครัวเรือน เมื่อเพียงพอก็นำมาผลิตเป็นข้าวกล้องหอมจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจ
ผลผลิตที่ได้รับการแปรรูปและถนอมออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ดังที่กล่าวมาข้างต้นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่เกิดจากการศึกษาทดลอง ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วนำมาขยายผลสู่ราษฎรในพื้นที่โดยรอบของศูนย์ฯ จนสามารถผลิตเพื่อการบริโภคได้อย่างเพียงพอ และสามารถขยายผลสู่การตลาดเพื่อจำหน่ายอันเป็นที่มาซึ่งรายได้ให้กับกลุ่มราษฎรในพื้นที่อย่างยั่งยืนและมั่นคง
ทั้งหมดนี้ เกิดจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติงานสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้การประสานงานของสำนักงาน กปร. เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงควบคู่กับมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของท้องถิ่น ซึ่งในโอกาสต่อไปจะผลักดันให้เกิดการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ให้ได้รับผลสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับราษฎรในหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เช่นกัน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=182359&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น