จากงานวิจัยสู่ไร่นาอีกก้าวสำคัญของเทคโนโลยีการผลิตพืช
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 51
จากงานวิจัยสู่ไร่นาอีกก้าวสำคัญของเทคโนโลยีการผลิตพืช
เทคโนโลยีการผลิตพืช ซึ่งนักวิจัยได้ศึกษาคิดค้นขึ้นมานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง เกษตรกรให้การยอมรับ เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีต่าง ๆ ไร้ค่าถูกเก็บไว้บนหิ้งนั้นนับเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพืชของเกษตรกรขึ้นมา
ทั้งนี้การยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพืชของเกษตรกร มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยในครัวเรือนของเกษตรกร ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยภายนอก เช่น ตลาด ราคาการผลิต เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบไปถึงการยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกรทั้งสิ้น รวมทั้งเงื่อนไขของเกษตรกรแต่ละรายจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่
ดังนั้นการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตพืชของเกษตรกร จึงมีการนำปัจจัยดังกล่าวมาทำการศึกษาด้วย ซึ่งได้มีการแบ่งศึกษาในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ 5 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตยางพารา ลำไย ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และระบบการปลูกพืชผักกางมุ้งและผักไร้ดิน ของโครงการเกษตรเชิงพาณิชย์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและปรับแผนงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร
สำหรับวิธีการดำเนินการศึกษาวิจัยนั้น คุณสาลี่ ชินสถิต นักวิชาการเกษตร จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จะเป็นวิธีการศึกษาสำรวจ รวบรวมข้อมูลการวิจัย และสัมภาษณ์เกษตรกรที่ทำการเกษตรด้วยการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยการสัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่ ด้วยวิธีการใช้แบบสอบถาม
อย่างผลการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตยางพาราของเกษตรกร ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างพบว่า เกษตรกรมีการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตยางพารา ระดับมากได้แก่ ด้านพันธุ์ร้อยละ 97 รองลงมาเป็นการป้องกันและกำจัดวัชพืชร้อยละ 79 การกรีดร้อยละ 60 และการเตรียมพื้นที่ร้อยละ 52 ส่วนเทคโนโลยีการผลิต ยางพาราที่เกษตรกรยอมรับระดับน้อยคือ การตัดแต่งกิ่ง การใช้ปุ๋ยหลังการเปิดกรีด การป้องกันกำจัดโรคและการจัดการแถวปลูก และเมื่อพิจารณาแล้วเกษตรกรที่มีการปฏิบัติถูกต้องมีเพียงเทคโนโลยีเดียวคือ ด้านพันธุ์ร้อยละ 80
สำหรับแนวทางแก้ไขคือ ควรมีการสร้างแปลงทดสอบในพื้นที่ ปัจจัยที่พบว่ามีผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตยางพาราของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน ได้แก่ การเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกร ประสบการณ์ในการทำสวนยาง และแหล่งเงินทุน ส่วนปัญหาที่สำคัญคือ อาการเปลือกแห้งของยางซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
หรือผลการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตกาแฟ ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลูกกาแฟนั้นพบว่า เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีระดับมากร้อยละ 92 ได้แก่ เทคโนโลยีด้านพันธุ์ ด้านการเก็บเกี่ยว และด้านกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว ส่วนเทคโนโลยีที่เกษตรกรมีระดับการยอมรับน้อยและปฏิบัติไม่ถูกวิธี ได้แก่ การให้น้ำ การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ระยะปลูก และการตัดแต่งกิ่ง
ขณะเดียวกันผลการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมัน ที่ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้พบว่า เทคโนโลยีที่เกษตรกรมีการยอมรับระดับมาก ได้แก่ เทคโนโลยีการตัดแต่งทางใบ การขนส่งทะลายสู่โรงงาน เทคโนโลยีด้านพันธุ์ การเก็บเกี่ยวทะลายและการอารักขาพืช ส่วนเทคโนโลยีที่มีการยอมรับระดับน้อย คือ การให้น้ำเสริมในช่วงฤดูแล้ง และการจัดการระหว่างแถวปลูก ส่วนปัจจัยที่พบว่ามีผลต่อการยอมรับ คือแหล่งเงินทุน สำหรับปัญหาที่เกษตรกรพบคือ ราคาผลผลิตต่ำ พันธุ์ปาล์ม ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมีราคาสูง แนวทางแก้ปัญหาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องก่อนปลูกปาล์มน้ำมัน
ส่วนผลการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตลำไย ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลำไยของประเทศพบว่า เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีในระดับมาก ได้แก่ เทคโนโลยีด้านพันธุ์ การเก็บเกี่ยว และการให้น้ำ ส่วนระดับการยอมรับน้อยและปฏิบัติไม่ถูกวิธี ได้แก่ เทคโนโลยีการตัดแต่งช่อผล การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช และการปลูก ทั้งนี้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดจันทบุรี จะให้การยอมรับเทคโนโลยีมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ
และผลการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีระบบการผลิตพืชผัก ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตผักกางมุ้งและผักไร้ดินพบว่า เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีในระดับมากได้แก่ เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 84 การวิเคราะห์ดินร้อยละ 74 และการคัดเลือกคุณภาพผักร้อยละ 73 ส่วนระดับเทคโนโลยีที่ถูกยอมรับน้อยและปฏิบัติไม่ถูกวิธีได้แก่ การใส่ปุ๋ย และการเตรียมสารละลายธาตุอาหาร สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีได้แก่ ระดับอายุของเกษตรกร
ผลการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีระบบการผลิตพืชดังกล่าว รับทราบมาว่าจะมีการนำมาต่อยอด เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหางานวิจัยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่เกษตรกรยังไม่ยอมรับให้กลับมาเกิดการยอมรับมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีการเกษตรที่นักวิจัยคิดค้นขึ้นมานั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้ปฏิบัติจริงได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=182360&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น