เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 51
ประมงชายฝั่งเมืองภูเก็ตเตรียมเฮ เมื่อพ่อเมืองพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งยกระดับ "ปลาช่อนทะเล" เป็นสินค้าประจำเมืองภูเก็ต แข่งกับปลาแซลมอนของสแกนดิเนเวีย
หลังปีที่ผ่านมามียอดส่งออกตลาดต่างประเทศกว่า 80 ตัน พร้อมหนุนส่งเสริมการรวมกลุ่มเลี้ยงในกระชัง และประสานเอกชนหาตลาดให้ โดยเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก
นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาชายฝั่ง หรือปลาน้ำลึกของ จ.ภูเก็ตว่า เป็นอีกมิติของภูเก็ต โดยขณะนี้ได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงปลาช่อนทะเล ซึ่งมีการทดลองเลี้ยงจำนวน 3 กระชังใหญ่ แต่ละกระชังจะปล่อยปลาที่มีขนาด 40 กรัม ลงเลี้ยงในอัตราความหนาแน่น 1 หมื่นตัว จากนั้นเมื่อมีขนาดโต 0.8-1 กิโลกรัม จะแยกเลี้ยงแต่ละกระชัง กระชังละ 5,000 ตัว ระยะเวลาการเลี้ยง 7-8 เดือน มีน้ำหนัก 3-4 กิโลกรัมจึงจับขายได้ เพราะหากปล่อยนานกว่านั้นปลาจะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ซึ่งจะทำให้เป็นภาระในการจำหน่าย
"จากที่พูดคุยกับคณะทำงาน วางแผนจะยกระดับปลาช่อนทะเลให้เป็นสินค้าประจำเมืองภูเก็ต ซึ่งอาจแข่งกับปลาแซลมอนของสแกนดิเนเวีย หรืออาจมีสเต๊กปลาช่อน ที่สู้กับปลาแซลมอนของสแกนดิเนเวียได้ เพราะเนื้อหรือว่าสิ่งต่างๆ มีประโยชน์ไม่แพ้กัน โดยทางประมงและเจ้าหน้าที่ได้มีการศึกษาสารอาหารในตัวปลาแล้วเห็นว่ามีประโยชน์จริงๆ รวมทั้งยังส่งเสริมให้ชาวประมงนำไปประกอบอาชีพ และเป็นตัวอย่างสำหรับพื้นที่ชายฝั่งอื่นๆ ด้วย"
นายปรีชาได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชัง หากมองในส่วนของชาวบ้านคงไม่สามารถทำโดยลำพังได้ แต่จะต้องมีการรวมกลุ่มกัน เพราะจะต้องมีการหาตลาดมารองรับ และต้องเป็นในรูปของอุตสาหกรรม ดังนั้นจะต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเรื่องการหาตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ดังนั้นจะต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐที่ต้องเข้าไปส่งเสริมการเลี้ยง การรวมตัวของชาวบ้าน และภาคเอกชนในการนำผลผลิตออกจำหน่าย
นายทวี จินดามัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงปลาช่อนทะเลยังมีไม่มากนัก ซึ่งขณะนี้นอกจากการทดลองเลี้ยงแล้ว ยังได้มีการศึกษาว่าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเลี้ยงเพื่อให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมได้อย่างไร ที่สำคัญคือ เรื่องของตลาดต้องให้มีความมั่นใจก่อน ทางกรมประมงพร้อมที่จะเข้าไปส่งเสริมและให้ความรู้อยู่แล้ว
ส่วนการตลาดนั้น นายทวีกล่าวว่า มีทั้งเยอรมนี ยุโรปและสิงคโปร์ ซึ่งปีที่แล้วได้ส่งออกไปแล้วประมาณ 82 ตัน เบื้องต้นเป็นการเปิดตลาด ต่อจากนั้นก็จะได้ส่งเสริมในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ส่วนของตลาดในประเทศนั้นยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จัก โดยที่มีการวางจำหน่ายจะเป็นในส่วนของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เช่น แม็คโคร โลตัส ภัตตาคารใหญ่ ร้านอาหารญี่ปุ่น เป็นต้น
สำหรับการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังขนาดใหญ่ในทะเลลึก เป็นโครงการนำร่องโดยความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ โดยกระชังทำด้วยท่อ HDPE เส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เมตร เส้นรอบวง 50 เมตร ลึก 6 เมตร เลี้ยงในระดับน้ำลึก 20 เมตร ปล่อยขนาด 40 กรัม ลงเลี้ยงในอัตราความหนาแน่น 8 ตัวต่อตารางเมตร (1 หมื่นตัวต่อกระชัง) เลี้ยงด้วยอาหารเม็ด จนมีขนาดโต 0.8-1 กิโลกรัม จึงคัดขนาดเพื่อลดความหนาแน่น 50% โดยเหลือกระชังละ 5,000 ตัว ขณะนี้กำลังวิจัยจำนวน 3 กระชัง ซึ่งปลาโตเร็วเมื่อมีอายุ 7 เดือน จะมีขนาด 3-4 กิโลกรัม จึงสามารถจับไปจำหน่ายได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 13 พฤศจิกายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/11/13/x_agi_b001_231044.php?news_id=231044