เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 51
ซึ่งมี ดร.นวลจันทร์ พารักษา จาก ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เป็นหัวหน้าโครงการ ได้ทดลองกันอย่างไรบ้าง
เริ่มแรกเลยก็หาลูกไก่อายุเพียง 1 วัน จำนวนถึง 2,000 ตัว แล้วก็มาแบ่งเป็นกลุ่มๆ ให้มีตัวผู้และตัวเมียเท่าๆ กัน ตามหลักการวิจัยและถูกต้องตามหลักสถิติทุกอย่าง เสร็จแล้วแต่ละกลุ่มก็ให้อาหารเหมือนกัน แต่ต่างกันที่บางสูตร เสริมด้วยยาปฏิชีวนะ บางสูตรใส่น้ำมันหอมระเหยจากออริกาโน ซึ่งเป็นพืชในเขตหนาว และสูตรสำคัญที่ต้องการเปรียบเทียบคือสูตรที่มีการเติมสารสกัดหยาบจากพริกแดงในอัตราต่างๆ กัน เพื่อจะได้ดูว่าสารสกัดจากพริกดังกล่าวสามารถนำมาใช้แทนยาปฏิชีวนะได้หรือไม่ หรือว่านำมาใช้แทนออริกาโน ซึ่งปลูกได้ในเขตหนาวได้หรือไม่
วิธีการศึกษาของโครงการนี้ก็จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดจากไก่ และศึกษาอะไรต่างๆ อีกมากมาย ในที่สุดก็ได้คำตอบออกมาว่า การใช้สารสกัดจากพริกที่ระดับความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ในพริกคือแคบไซซิน ในอัตรา 20 ส่วนต่อล้าน หรือหากจะลดปริมาณสารสกัดจากพริกลงเหลืออัตราแคบไซซิน 5 ส่วนต่อล้าน ก็ทำได้แต่ผสมน้ำมันกะเพราเข้าไปแทนอีก 20 ส่วนต่อล้าน
ทั้งสองวิธีนี้ให้ผลต่อการเติบโตของไก่เป็นอย่างดี คือทำให้ไก่กินอาหารได้มากขึ้น และประสิทธิภาพการใช้อาหารในการเปลี่ยนให้เป็นเนื้อไก่ดีขึ้น และที่สำคัญคือให้ผลดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างที่เคยปฏิบัติติดต่อกันมายาวนาน ไก่ที่เลี้ยงด้วยอาหารเสริมจากพริก มีอัตราการตายน้อยลง และทำให้การสูญเสียน้ำหนักหลังการฆ่าลดลง สรุปก็คือการใช้สารสกัดจากพริกในการเลี้ยงไก่ ให้ผลดีมาก นอกจากนี้นักวิจัยยังศึกษาลึกลงไปเพื่อดูว่าทำไมสารสกัดจากพริกจึงให้ผลดีอย่างนั้น ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลทางวิชาการมายืนยันผลที่เกิดขึ้น สรุปได้ว่าการใช้สารสกัดจากพริกหรือผสมกับน้ำมันกะเพรา มีผลทำให้การหลั่งน้ำย่อยเพิ่มขึ้น การย่อยอาหารและการดูดซึมอาหารจึงดีขึ้น ส่งผลให้การใช้อาหารมีประสิทธิภาพ หมายความว่ากินอาหารเท่ากัน แต่ไก่จะโตดีกว่า ส่วนอาการผิดปกติอื่นๆ ไม่พบ
การค้นพบครั้งนี้มีประโยชน์มาก เพราะว่าในการเลี้ยงไก่ปัจจุบันนี้ต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปมาเลี้ยง และในอาหารดังกล่าวก็จะมีการผสมยาปฏิชีวนะจำนวนเล็กน้อย เพื่อจุดประสงค์ในการเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งก็เคยใช้ได้ผลดี แต่ว่าการเติมยาดังกล่าวลงไปกลายมาเป็นข้อจำกัดในการเลี้ยงไก่เพราะว่าทางสหภาพยุโรปไม่ต้องการให้มีการใช้วิธีนี้ เนื่องจากจะมีผลเสียต่อผู้บริโภคเพราะว่าเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะจำนวนน้อยๆ เข้าไปต่อเนื่องนานเข้า โอกาสที่เชื้อต่างๆ จะดื้อยาก็มีมาก จึงมีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว
โชคดีที่เมืองไทยมีพืชสมุนไพรที่เรารู้จักกันดีและใช้ประกอบอาหารทุกวันไม่ว่าจะเป็นพริกหรือกะเพรา การที่พืชทั้งสองอย่างนี้ช่วยเร่งการเติบโตได้ดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ จึงเป็นทางเลือกสำคัญและเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของไทยครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/11/17/x_agi_b001_231400.php?news_id=231400