เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 51
ผลจากการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ภายใต้กรอบการพัฒนาความร่วมมือภาคการประมงของเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) หรือ IMT-GT ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2536
โดยผู้นำทั้งสามประเทศเห็นชอบที่จะผลักดันให้เกิดพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลักษณะไตรภาคีในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย 8 รัฐภาคเหนือของมาเลเซีย และ 10 จังหวัดบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียนั้น จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้ง 3 ประเทศได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบการพัฒนาความร่วมมือดังกล่าว โดยอธิบดีกรมประมง "ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์" ให้เหตุผลว่าเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพสูงที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างสามประเทศได้ ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการลงทุนของภาคเอกชน โดยภาครัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านนโยบายและกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้มากที่สุด
"คือทั้งสามประเทศนั้นมีทรัพยากรประมงและความเชี่ยวชาญในการทำประมงที่แตกต่างกัน เมื่อมีการพัฒนาความร่วมมือกันในกิจกรรมการทำประมงในทะเลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งเพื่อเป็นอาหารและเพื่อความสวยงาม รวมถึงการแปรรูปอาหารทะเลจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (IMT-GT) ด้วย โดยเฉพาะปลาสวยงามนั้นจะเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนในอนาคต"
อธิบดีกรมประมงยอมรับว่า ผลกระทบจากทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำทะเลไทยที่เริ่มมีปริมาณลดน้อยลงทุกวัน ทำให้เราต้องหันมาเน้นการแปรรูปเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในด้านนี้ ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียยังมีปริมาณสัตว์น้ำที่มากพอ จึงจำเป็นต้องให้สองประเทศนี้ส่งสัตว์น้ำที่จับได้มาแปรรูปในประเทศไทย
"ตั้งเป้าไว้ในอนาคต เราจะเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ เพราะสิ่งที่ตามมาก็คือ เราจะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นมากมาย ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวม" อธิบดีกรมประมงย้ำชัด
ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐโดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่หากไม่มีองค์กรภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนกรอบการพัฒนาความร่วมมือภาคการประมงของเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ก็อาจไม่คืบหน้าดั่งเช่นทุกวันนี้ โดยเฉพาะสภาหอการค้าไทยที่เข้ามาดูแลผู้ประกอบการภาคธุรกิจประมงอย่างเต็มที่
สมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สภาหอการค้าไทย บอกว่า ที่ผ่านมาความร่วมมือในธุรกิจการประมงของทั้งสามประเทศอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยเฉพาะไทยกับอินโดนีเซียนั้นมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ไปมาหาสู่กันตลอด เพราะการลงทุนร่วมกันนั้นไม่ได้เป็นการจับปลาเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการตลาดด้วย
"ผมเคยพาคณะไปพบผู้ว่าฯ อาเจะห์ และอีกหลายจังหวัดบนเกาะสุมาตรา เขาบอกว่าอยากให้ไปพัฒนาประเทศเขา เขาอยากได้โรงงานปลากระป๋อง อยากให้เราไปตั้งโรงงานที่นั่น เนื่องจากที่นั่นยังมีปริมาณสัตว์น้ำอีกมาก แต่ก็บอกไปว่าคงลำบาก เพราะการลงทุนในธุรกิจปลากระป๋องมีกำไรน้อยมาก ต้นทุน 100 บาท กำไรแค่ 105 เท่านั้นเอง แต่ต้องเอาก้าง เอาหัวปลามาทำปลาป่น ไม่เช่านั้นจะทิ้งเปล่าไม่เกิดประโยชน์"
สมเกียรติย้ำว่า การจัดงาน "IMT-GT Fisheries and Expo 2008" ในวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2551 ที่ จ.ภูเก็ตนั้น นับเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบธุรกิจประมงไทยได้พบปะกับนักธุรกิจประมงประเทศเพื่อนบ้านและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในเรื่องการประมงที่ตนเองสนใจ รวมถึงรับทราบนโยบายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของภาครัฐ อันจะนำไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจหรือทำให้เกิดการนำเสนอข้อคิดเห็นหรือแนวทางในการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของภาครัฐเสริมสร้างให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนร่วมกันในอนาคตข้างหน้า
ด้าน ปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แจงรายละเอียดสั้นๆ ถึงกรอบความร่วมมือภาคการประมงของเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย หรือไตรภาคีว่า สภาพัฒน์เองอยู่ในฐานะหน่วยประสานงานในการผลักดันเพื่อไปสู่เวทีโลก ซึ่งมีทั้งหมด 6 ด้านความร่วมมือมีความจำเป็นนำไปสู่ความก้าวหน้าที่พื้นที่ในอนาคต
"สภาพัฒน์เองไม่ได้อยู่ในฐานะหน่วยงานหลัก แต่เป็นผู้ประสานด้านนโยบายเพื่อให้เป็นไปตามกรอบความร่วมมือที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน" ที่ปรึกษาคนเดิมกล่าวย้ำ
นับเป็นอีกก้าวของธุรกิจประมงไทยในการเชื่อมประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำธุรกิจประมงร่วมกัน อันจะนำมาซึ่งการลดต้นทุนและเป็นผู้นำในการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงสู่ตลาดโลกในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/11/17/x_agi_b001_231402.php?newsid=231402