เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 51
แม้ปัจจุบันคนไทยไม่นิยมกินหมากเหมือนสมัยก่อน แต่หมากก็เป็นสินค้าส่งออกของประเทศ อย่างที่ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า ปัจจุบันหมากเข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมหลายชนิด
หมากจึงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบของหมากสดและหมากแห้งในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย และทำยารักษาโรค และผลหมากใช้เป็นสมุนไพรในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ใช้สมานแผล แก้ท้องเสีย รักษาโรคเหงือกและฟัน
"ส่วนสำคัญของหมาก คือ เมล็ด ซึ่งมีสารจำพวก แอลคาลอยด์ ประกอบด้วย อาเรเคน และอาเรโคลีน นิยมนำมาเคี้ยวกับหมากและใบพลู ซึ่งนับว่าเป็นสารเสพติดชนิดอ่อน หมากพบได้ในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียใต้ แถบมหาสมุทรแปซิฟิกในส่วนที่เป็นเขตร้อน และบางส่วนของทวีปแอฟริกา"
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรระบุอีกว่า ปัจจุบันหมากยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอีกมาก ซึ่งเกษตรกรทั่วไปก็สามารถทำรายได้จากการปลูกหมากจำหน่ายได้ อีกทั้งยังสามารถปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามอีกด้วย หากไม่ต้องการทำการค้าขาย นอกจากนั้นยังถือว่าเป็นการอนุรักษ์ต้นหมากด้วย เพราะคนรุ่นหลังจะได้รู้จักต้นหมากว่ามีหน้าตาลักษณะเป็นอย่างไร มิใช่รู้จักแต่ต้นปาล์มเท่านั้น
สำหรับหมาก จัดเป็นพืชตระกูลปาล์มมีหลายชนิด ซึ่งจะไม่เรียกหมากตามพันธุ์ แต่จะเรียกตามลักษณะของผลและต้น คือ หากแบ่งตามลักษณะผลของหมากก็จะเป็นหมากแบบผลกลมแป้นและผลกลมรี นอกจากนี้ยังมีการแบ่งลักษณะตามต้นก็จะแบ่งเป็น แบบต้นสูง กลางและเตี้ย หมากเจริญเติบโตได้ดีในเขตที่มีอากาศอบอุ่นและร้อนชื้น โดยจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4-6 ปี ให้ผลผลิตคงที่จนถึงอายุ 20 ปี หลังจากนั้นผลผลิตจะลดลง ดังนั้น เกษตรกรควรปลูกหมากแซมกลางระหว่างต้นเก่า เมื่อหมากใหม่เริ่มให้ผลผลิตก็ให้โค่นต้นเก่าออก ดินที่เหมาะสมกับการปลูกหมากควรเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวที่มีการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขังมีอินทรียวัตถุสูง
จะเห็นได้ว่าหมากเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ปลูกง่าย การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก โรคแมลงรบกวนน้อย ลงทุนไม่สูง ทำรายได้สม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นเวลานานนับสิบปี ควรปลูกในลักษณะผสมผสานร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่นเพื่อเป็นการเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/11/17/x_agi_b001_231401.php?newsid=231401