หลังน้ำลดเตือนชาวนาระวังหนอนกระทู้กล้า-กระทู้คอรวงระบาด
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 51
หลังน้ำลดเตือนชาวนาระวังหนอนกระทู้กล้า-กระทู้คอรวงระบาด
มีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ศัตรูข้าวจากศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ข้าว กรมการข้าวว่า ในระยะนี้พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมได้เข้าสู่ภาวะน้ำลดลง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับชาวนาคือ การระบาดของหนอนกระทู้กล้า และหนอนกระทู้คอรวง ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายต่อนาข้าวของชาวนาได้ ดังนั้นกรมการข้าวจึงขอเตือนชาวนาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวให้เฝ้าระวังสถานการณ์และติดตามการพยากรณ์เตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
หนอนกระทู้กล้า ผีเสื้อหนอนกระทู้กล้า เป็นผีเสื้อกลางคืนปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล ความกว้างของปีกกางออกประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร ปีกคู่หลังสีขาว บินเก่งสามารถอพยพได้ไกลเป็นระยะทางหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตร วางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวหนอนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำ ด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย แต่ละปล้องมีจุดสีดำตัวหนอนฟักจากไข่ช่วงเช้าตรู่ และรวมกลุ่มกันกัดกินส่วนปลายใบข้าว กลางวันจะหลบอยู่ในดินใต้เศษใบพืช ในพื้นนาที่แห้ง บางส่วนอยู่บนต้นข้าวส่วนที่อยู่เหนือน้ำในนาที่ลุ่ม ชอบเข้าดักแด้ในดินหรือบนต้นหญ้าตามคันนา ตัวหนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร กว้าง 5-6 มิลลิเมตร ชีพจักรจะแตกต่างกันตามพื้นที่ระบาด
โดยทั่วไปหนอนจะทำลายข้าวในเวลากลางคืน ระยะแรกจะกัดกินผิวใบข้าว เมื่อโตขึ้นจะกัดกินทั้งใบและต้นข้าวเหลือไว้แต่ก้านใบ ตัวหนอนจะกัดกินต้นกล้าระดับพื้นดิน นาข้าวจะถูกทำลายแหว่งเป็นหย่อม ๆ และอาจเสียหายได้ภายใน 1-2 วัน ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หนอนมีการเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มคล้ายกองทัพ จากการขยายพันธุ์หลาย ๆ รุ่นบนวัชพืชพวกหญ้า และเคลื่อนเข้าสู่แปลงกล้าและนาข้าวจากแปลงหนึ่งไปยังอีกแปลงหนึ่ง มักพบระบาดช่วงหลังน้ำท่วม เนื่องจากพืชอาหารพวกวัชพืชตระกูลหญ้ามีปริมาณไม่เพียงพอ
การป้องกันกำจัด ทำได้ดังนี้ 1) กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัย 2) ใช้สารฆ่าแมลง คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ มาลาไทออน (มาลาไธออน 83% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์
หนอนกระทู้คอรวง ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลอ่อน แทรกสีน้ำตาลแดง ปีก กว้างประมาณ 4.5-5 เซนติเมตร วางไข่เป็นกลุ่มตามกาบใบและลำต้นหรือฐานของใบที่ม้วน ไข่ไม่มีขนปกคลุม วางไข่เป็นกลุ่มกลุ่มละประมาณ 100 ฟอง ระยะฟักไข่นาน 6-8 วัน หนอนที่ฟักออกใหม่จะกัดกินใบหญ้าอ่อนจน อายุประมาณ 15 วัน จึงเริ่มกัดกินใบและรวงข้าว ระยะหนอนประมาณ 25-30 วัน หนอนมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว้างประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2.8 มิลลิเมตร ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน หนอนเข้าดักแด้ที่โคนกอข้าวหรือตามรอยแตกของดิน ดักแด้มีสีน้ำตาลแดง ระยะดักแด้ 10-12 วัน
หนอนกระทู้คอรวงชอบกัดกินส่วนคอรวงหรือระแง้ของรวงข้าวที่กำลังจะสุก ทำให้คอรวงขาด สามารถทำลายรวงข้าวได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยลักษณะการทำลายคล้ายหนอนกระทู้กล้า มักเข้าทำลายต้นข้าวช่วงกลางคืนหรือตอนพลบค่ำถึงเช้าตรู่ กลางวันอาศัยตามใบหรือโคนต้นข้าวหรือวัชพืชตระกูลหญ้า หนอนจะกัดกินต้นข้าวทุกวันจนกระทั่งเข้าดักแด้ พบระบาดมากหลังน้ำท่วมหรือฝนตกหนักหลังผ่านช่วงแล้งที่ยาวนานแล้วตามด้วยฝนตกหนัก การทำลายจะเสียหายรุนแรง จนชาวนาเรียกกันว่า “หนอนกระทู้ควายพระอินทร์”
การป้องกันกำจัด สามารถทำได้ดังนี้ 1) กำจัดวัชพืชรอบ ๆ แปลงนา 2) เมื่อมีการระบาดรุนแรง หากตรวจนับพบใบข้าวถูกทำลายกอหรือจุดละ 5 กอหรือ 5 รวงจากข้าว 20 กอหรือจุดสุ่มนับ ให้ใช้สารตามคำแนะนำ 3) กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัย 4) ใช้สารฆ่าแมลง คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ มาลาไทออน (มาลาไธออน 83% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=182710&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น