เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 51
เห็นได้จากผลงานการวิจัยการปลูกยูคาลิปตัสในนาข้าวในพื้นที่นาปีภาคอีสานของ "ดร.บุญวงศ์ ไทยอุตสาห์" อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการปลูกไม้โตเร็วเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในชนบท ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สกว.และกลุ่มบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ปรากฏว่าปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาทุกๆ ระยะห่าง 30-40 เมตร โดยระยะห่างระหว่างต้น 2-3 เมตร เมื่ออายุ 5 ปี จะได้ไม้อย่างน้อยไร่ละ 3 ตัน ซึ่งจะเป็นการเสริมรายได้ให้แก่ชาวนาได้เป็นอย่างดี
"การปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาไม่ใช่ของใหม่ เกิดขึ้นครั้งแรกที่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อ 21 ปีที่แล้ว ขณะนั้นปลูกเพื่อนำมาใช้ทำฟืน เนื่องจากน้ำมันแพง จากนั้นก็นำมาปลูกที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา จึงมีคนพูดกันว่า ยูคาลิปตัสเกิดที่ร้อยเอ็ดแต่มาเติบโตที่ปราจีนฯ แปดริ้ว" ดร.บุญวงศ์กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแปลงทดลองปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาของสุพจน์ โยงรัมย์ แห่งบ้านหนองกาใน ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
ดร.บุญวงศ์ยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคยืนต้นตายระบาดกับสวนป่ายูคาลิปตัสในภาคตะวันตกแถบ จ.ราชบุรี จ.กาญจนบุรี แล้วลามมาสู่ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปราจีนบุรี และ จ.สระแก้ว ในปี 2540 โดยสายพันธุ์ที่เป็นมากที่สุดเบอร์ เค8 เค54 และ เค55 หรือการตรวจพบแตนฝอยปมระบาดอย่างรุนแรงในปี 2547 อันเนื่องมาจากฐานพันธุกรรม ทำให้เกษตรกรเริ่มไม่มั่นใจในการปลูกไม้ชนิดนี้
"ยอมรับว่าเมื่อก่อนเรื่องสายพันธุ์อาจมีปัญหาอยู่บ้าง แต่หลังจากมีการทำวิจัยได้พบสายพันธุ์ใหม่ๆ หลายตัวไม่ว่าจะเป็น เค7 เค51 เค58 และ เค59 แล้วนำมาทดลองปลูกในแปลงนาของเกษตรกรปรากฏว่าได้ผลดีมาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูกด้วย อย่าง เค58 จะเติบโตได้ดีในพื้นที่ดินเหนียวที่มีความชื้นสูง แต่ถ้า เค51 ต้องเป็นดินทรายและแห้งแล้ง สำหรับ เค58 ถือเป็นพันธุ์ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะลำต้นใหญ่ แม้เรือนยอดจะหนาไปหน่อย" ดร.บุญวงศ์เผย
ขณะที่สุพจน์ โยงรัมย์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมในโครงการทดลองปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา กล่าวถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการว่า เพราะอยากมีรายได้เสริม และหากผลการวิจัยเป็นไปตามเป้าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ที่ผ่านมาคันนาก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรอยู่แล้ว
"เพิ่งทดลองปลูกครั้งแรกก็อยากลองดู ข้าวก็ได้ตามปกติ แถมมีรายได้จากไม้ยูคาฯ ด้วย ผมมีที่นาอยู่ 29 ไร่เศษ ลงยูคาฯ ไปกว่า 1,000 ต้น ก็ทำตามที่ อ.บุญวงศ์ บอกทุกอย่าง ตอนนี้ปลูกมา 3 ปีกว่าแล้ว เห็นเติบโตดี ไม่เห็นมีปัญหาอะไร การดูแลก็แค่ระยะแรกเท่านั้น จากนั้นก็ไม่ต้องแล้ว ส่วนข้าวก็ได้ผลผลิตตามปกติเฉลี่ยไร่ละ 50-60 ถัง เท่ากับตอนที่ยังไม่ปลูกยูคาฯ" เกษตรกรรายเดิมระบุ
การปลูกยูคาฯ บนคันนา โดยใช้สายพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ จึงนับเป็นอีกทางเลือกของชาวนาไทยที่ต้องการมีรายได้เสริมและใช้พื้นที่คันนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 18 พฤศจิกายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/11/18/x_agi_b001_231733.php?news_id=231733