พัฒนาตลาดผักปลอดสาร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 51
พัฒนาตลาดผักปลอดสาร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากเราสามารถพัฒนาและสร้างกระบวนการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัยจากสารพิษต่าง ๆ ก็ย่อมที่จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ ทั้งยังมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงในด้านปัญหาสุขภาพอีกทางหนึ่ง
ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีและส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารจำพวกผักและผลไม้ที่ปลอดจากสารพิษกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีผู้ผลิตอีกเป็นจำนวนมากที่มิได้ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ รวมไปถึงผู้บริโภคจำนวนมากก็ยังขาดความเอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพชีวิตของตนเอง นอกจากนี้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าปลอดสารพิษยังขาดแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่มีการแยกตลาดอย่างชัดเจนกับสินค้าทั่วไป ทำให้กระแสความนิยมในการบริโภคผักปลอดสารพิษของประชาชนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าดีแต่ก็ไม่รู้จะไปหาซื้อได้จากที่ไหน
เหตุนี้ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดขอนแก่น ดำเนินงาน “โครงการผักปลอดภัยจากสารพิษ จังหวัดขอนแก่น” ขึ้นมาโดยมุ่งหวังให้ประชาชนในเมืองดอกคูนเสียงแคนได้มีโอกาสบริโภคอาหารที่สะอาดและปลอดภัยจากสารพิษอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย ผู้จัดการแผนงานผักปลอดสารพิษ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า โครงการผักปลอดภัยจากสารพิษ ได้รับทุนการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อจัดทำระบบการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยคิดค้นกระบวนวิธีให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานผักปลอดสารพิษได้อย่างแท้จริง ซึ่งต้องเริ่มที่เกษตรกรผู้ปลูกผัก ร้านค้าที่รับซื้อ และความตระหนักของผู้บริโภค ในการทำงานจึงมีการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัด อาทิ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 3 เข้าไปสร้างองค์ความรู้ในเรื่องนี้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละภาคส่วน และเน้นสร้างแรงกระตุ้นเข้าไปสู่การปกครองในระดับท้องถิ่นเพื่อให้การทำงานมีความเข้มแข็งและมีรูปแบบที่ชัดเจน
“เราต้องการให้กลุ่มเป้าหมายคือชาวบ้านตั้งแต่ในระดับชุมชน ได้มีวัตถุดิบที่ปลอดภัยไปประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน จึงวางแผนการทำงานโดยผลักดันนโยบายไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกผักและตลาด ซึ่งมีหน้าที่กระจายสินค้า โดยให้ทั้ง 2 ส่วนได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ประชาชนคำนึงถึงความปลอดภัยจากการบริโภคอีกด้วย” รศ.ดร.สุพัตรา กล่าว
โดยมีพื้นที่ตัวอย่างที่ดำเนินตามแนวทางโครงการฯ ที่ทาง สสส. ได้เข้าไปสนับสนุนตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งสามารถปลูกผักปลอดสารพิษได้อย่างยั่งยืน มีผลผลิตกระจายสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องคือ กลุ่มเกษตรกรที่หมู่บ้านบ้านหม้อ ต.คูคำ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ซึ่งใช้วิธีปลูกผักกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลงและศัตรูพืช ลดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง
“เดิมเมื่อเจอแมลงรบกวนก็ใช้ยาฆ่าแมลงตลอด แต่เมื่อได้เปลี่ยนเป็นการปลูกผักกางมุ้ง ก็ช่วยลดต้นทุนการใช้ยาฆ่าแมลง ค่าน้ำ และค่าปุ๋ยลงได้ หากเจอแมลงรบกวนมาก ๆ ก็จะไถทิ้งให้เป็นปุ๋ยแล้วปลูกใหม่ทันที เพราะเรานึกถึงสุขภาพของตัวเองและผู้บริโภคเป็นหลัก” นายสุนันท์ เผ้าหอม ผู้ใหญ่บ้านบ้านหม้อ เล่าถึงแนว คิดที่ส่งผลดีต่อทั้งคนปลูกและคนซื้อ
ด้านหัวหน้ากลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ นายสมจิตร เผ้าหอม กล่าวเสริมว่า การปลูกผักปลอดสารพิษ มีต้นทุนค่าไถกลบ ค่าปุ๋ยมูลสัตว์และค่าเมล็ดพันธุ์เท่านั้น ที่เหลือจึงเป็นกำไรเฉลี่ยไร่ละ 3-4 หมื่นบาท มากขึ้นกว่าตอนที่ใช้สารเคมีถึง 2 เท่า และที่สำคัญคือ เมื่อก่อนสังเกตได้ว่าเมื่อใช้สารเคมียาฆ่าแมลง คนทำไร่เองมักจะเป็นโรคต่าง ๆ ค่อนข้างมาก แต่พอได้เรียนรู้วิธีการปลูกผักปลอดสารพิษแล้ว สังเกตได้ว่า สุขภาพของผู้ปลูกเองก็ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคเองก็ได้สุขภาพที่ดีกลับไป
ผลผลิตของชาวบ้านหม้อ เป็นผักตามฤดูกาลที่นิยมบริโภคกันทั่วไปได้แก่ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว และมะเขือ ซึ่งมีการปลูกหมุนเวียนสลับกันไป ในแต่ละวันชาวบ้านจะนำผลผลิตที่ได้มารวมกันแล้วให้ตัวแทนหมู่บ้านนำไปขายที่ตลาดสด ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น เพื่อลดปัญหาการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา และผู้บริโภคก็จะได้รับประทานผักปลอดสารพิษสดใหม่ทุกวัน
โครงการผักปลอดภัยจากสารพิษ จังหวัดขอนแก่น ก่อให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและตลาด ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่มีความปลอดภัยได้โดยง่าย ส่งผลดีกับทุกฝ่ายทั้งในเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจในชุมชน และสังคมในระดับท้องถิ่น
เมื่อผู้ผลิตเองมีจิตสำนึกผลิตอาหารปลอดภัย และตลาดมีจิตสำนึกในการขายสินค้าที่มีคุณภาพ สิ่งที่ชาวขอนแก่นจะได้รับคือ สุขภาพอนามัยที่ดี ซึ่งเกิดจากการได้บริโภคอาหารดี ๆ ที่มีคุณภาพ และสามารถเข้าถึงผักปลอดภัยจากสารพิษอย่างต่อเนื่องและตลอดไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=182758&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น