เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 51
ปัจจุบันผลิตผลทางเกษตรกรรม แม้เกษตรกรไทยจะมีฝีมือสร้างผลิตผลออกมาคุณภาพสูงเพียงใด หากผ่านกระบวนการตาม ระบบจัดการผลิตที่ถูกต้องเหมาะสม (GAP) ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด มิหนำซ้ำยังถูก “กดราคา” รับซื้อโดยเฉพาะกับผู้บริโภคในต่างแดน
แต่ถ้าหากรายไหน “ปรับทิศเปลี่ยนแนวทาง” ได้ทันสถานการณ์ ก็นอนนับเงินต่างประเทศได้อย่าง “ชิลด์ๆ” เหมือนอย่างกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออกของ นายมนตรี ศรีนิล เกษตรกรบ้านเลขที่ 31 หมู่ 7 ตำบลโป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งในวันนี้โกยเม็ดเงินจากการส่งออกผลผลิตได้ปีหนึ่งนับล้านบาท
มนตรี บอกให้ฟังว่า....หลังไปดูงานที่กลุ่มผู้ส่งออกมะม่วงในอำเภอบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา พอกลับมาจึงเริ่มโค่นพันธุ์เขียวเสวย ทองดำ แก้ว แล้วเปลี่ยนมาปลูก “น้ำดอกไม้” ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งติดต่อกับบริษัทผู้รับซื้อเพื่อส่งออกกับเขาบ้าง แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ และยังโดนกดราคา ทั้งๆที่ผลผลิตมีคุณภาพ แล้วชักชวนเพื่อนบ้านรวมกลุ่ม ปรึกษา หาแนวทางผลิตมะม่วงคุณภาพ ศึกษาว่า “สารเคมี” ที่อยู่ตามท้องตลาดว่า ชนิดไหนต้องห้ามสามารถใช้ได้กี่วันก่อนเก็บเกี่ยว อีกทั้ง ติดต่อขอคำชี้แนะจาก สนง.เกษตรอำเภอ ในการ เข้าสู่ การผลิตระบบ GAP หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จึงส่งไปตรวจ ขอรับรองสัญลักษณ์ Q ว่า “ปลอดสาร” จาก กรมวิชาการเกษตร
หลายๆบริษัทเริ่มเข้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน เพื่อส่งไปขาย ประเทศญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลี จีน สิงคโปร์ จากเดิมสมาชิกบางรายจะขายมะม่วงแบบ เหมาสวน พอเปลี่ยนมาควบคุมคุณภาพแม้บางฤดูผลผลิตจะมีมากแต่ก็ไม่ทำให้เสียราคา และนี่คือความแตกต่างของตลาดในบ้านเรากับตลาดส่งออก ที่เพียงรักษาคุณภาพให้ได้อย่างที่ผู้ซื้อต้องการ ราคาก็ไม่ตกแม้ผลผลิตจะมีมาก
สำหรับการจัดการ ภายในสวนเพื่อให้มีคุณภาพนั้น มนตรี บอกว่า ในเดือนมกราคมหลังเก็บเกี่ยวผลิตผลหมด จะ ให้ปุ๋ยสูตรเสมอ อัตราครึ่ง กก./ต้น/ครั้ง ทิ้งช่วง 30 วัน ตัดแต่งกิ่ง ฉีดฮอร์โมนกระตุ้น ช่วงที่แดดไม่ร้อนจัด พอเริ่มแตกใบอ่อนจะราดสารแพคโคบิวโคโซนเพื่อชะลอการเจริญเติบโต และให้น้ำปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จากนั้น 15 วัน ฉีดพ่นอาหารทางใบ กระตุ้นการสร้างตา พอเริ่มเห็นดอกมะม่วงควรให้น้ำ พร้อมกับฉีดยากันแมลง ภายในสวนต้องสะอาดตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรและเกณฑ์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมาดูบ่อยครั้ง
พอมะม่วงมีขนาดเท่าไข่ไก่ ห่อด้วยถุงกระดาษ “คาร์บอน” กันแมลง แต่ถ้าไม่ใช้ตลาดต่างประเทศก็ไม่รับซื้อผลผลิต จึงทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และเราพึ่งตั้งกลุ่มไม่นานเงินทุนหมุนเวียนมีน้อย ดังนั้นจึงกู้เงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาใช้หมุนเวียน หลังจากนั้นอีก 45-50 วัน จึง เก็บผลผลิตอย่างระมัดระวัง เพราะหากเกิดรอยช้ำจะทำให้ ราคาหายไปเกือบครึ่ง
นายไพฑูรย์ มาไพศาล หนึ่ง ในสมาชิก บอกว่า แรกๆตอนพี่มนตรีชักชวนให้เข้าร่วมยังไม่กล้าเพราะต้องใช้ต้นทุนสูง อีกทั้งทางประเทศญี่ปุ่นเคร่งครัดเรื่องคุณภาพที่ต้องผ่านการคัดสรรอย่างดี ทำให้กลัวว่าผลผลิตจะไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ผ่านไปหนึ่งฤดู บอกได้เลยว่า “ไม่ใช่เรื่องยาก” ถ้า ทำตามแนวทางการดูแลสวนอย่างที่อบรม วันนี้ตั้งมั่นเพียงอย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้มะม่วงของเราคุณภาพดีที่สุด เท่านั้น ทุกวันนี้ผมเริ่มจะลืมตาอ้าปากได้ “แม้ต้นทุนจะสูงแต่ก็พออยู่ได้ เพราะการรับซื้อผลผลิตเขาวัดกันที่คุณภาพ”
นายวินัย ตั้งบุญนิธิวงศ์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาปากช่อง บอกว่า แม้หลายพื้นที่จะหันมาปลูกมะม่วงสายพันธุ์น้ำดอกไม้กันมาก แต่เพื่อไม่ให้ปริมาณล้นตลาด กลุ่มผู้ส่งออกจึงวางแผนร่วมกัน อย่างที่อำเภอปากช่อง จะทำมะม่วงนอกฤดู พอปริมาณเริ่มลดน้อยลง ผลผลิตจากอำเภอบางคล้า สุพรรณบุรี อ่างทอง พื้นที่ทางภาคเหนือ ก็จะออกสู่ท้องตลาดหมุนเวียนสลับกัน การวางแผนนี้จึงทำให้ราคาซื้อขายไม่ตก
เกษตรกรรายใดที่ต้องการหันมาเปลี่ยนแนวทางการผลิตที่ถูกต้องอย่างเหมาะสม เพื่อทำให้ผลผลิตโกอินเตอร์บ้าง กริ๊งกร๊างสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 08-9582-2211, 08-9844-4993. ในวันเวลาที่เหมาะสม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=111948