เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 51
ประสาน พรโสภิณ นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดดอยอินทนนท์ บอกว่า ในปี 2548 กรมประมงมีการนำเข้าไข่ปลาสเตอร์เจียนจากประเทศรัสเซียมาทดลองฟักที่ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดดอยอินทนนท์จำนวนหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่ามีอัตรารอดมาได้ถึง 90% และผลจากการทดลองเลี้ยงพบว่าปลาประเภทนี้เติบโตได้ในสภาพภูมิอากาศบนดอยอินทนนท์ เนื่องจากปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในสภาพพื้นที่ที่มีอากาศหนาวไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส
"ตามข้อมูลปลาสเตอร์เจียนมีอยู่ 25-27 ชนิด ใน 3 สายพันธุ์ หรือ 3 สกุล ถือเป็นปลาขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายปลาฉลาม เคยมีสถิติระบุว่า ปลาสเตอร์เจียนในประเทศรัสเซียมีอายุกว่า 200 ปี หนักถึง 1.5 ตัน ยาว 5 เมตร พบมากในทะเลสาบแคสเปียน ประเทศรัสเซีย แต่โดยทั่วไปจะพบขนาดมีน้ำหนักระหว่าง 75-100 กก. ปลาชนิดนี้เลี้ยงเพื่อนำผลผลิตไข่ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ไข่คาร์เวียร์ นั้น ราคาแพงมาก ตก กก.ละกว่า 2 แสนบาท" ประสานกล่าว
ประสานบอกอีกว่า การเลี้ยงปลาชนิดนี้กว่าจะได้ไข่นำมาจำหน่าย ต้องเลี้ยงให้มีอายุ 10 ปีก่อน แต่ที่ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดดอยอินทนนท์ เพิ่งมีอายุกว่า 2 ปีเท่านั้น จากการติดตามและสังเกตพบว่าการทดลองเลี้ยงที่ศูนย์ ปลาชนิดนี้เติบโตเร็วมาก ตอนนี้มีน้ำหนักถึงตัวละ 3 กก. คาดว่าอีก 7-8 ปี คงจะให้ไข่ได้แล้ว โดยปลาตัวเมีย 1 ตัว จะให้ไข่ 1 ปี และเว้นอีก 2 ปี จึงจะให้ไข่อีก แม่ปลา 1 ตัวจะให้ไข่ 15% ของน้ำหนักตัวปลา เป็นไข่ปลาที่มีรสชาติอร่อยและแพงมาก ปัจจุบันไข่ปลาสเตอร์เจียนจะนิยมบริโภคมากที่สุดทั้งในรัสเซีย ยุโรป และอเมริกา ซึ่งอิตาลีเป็นประเทศแรกที่ถนอมไข่ปลาสเตอร์เจียนเพื่อเก็บได้นาน จึงเรียกเป็นภาษอิตาลีว่า ไข่คาร์เวียร์
"ปลาสเตอร์เจียนสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อและในสภาพที่มีน้ำไหล แต่ถ้าเลี้ยงในบ่อควรจะให้มีระบบน้ำเวียนหรือท่อออกซิเจน แต่ก็ไม่แน่ใจว่า เมื่ออายุครบ 10 ปีแล้วจะให้ผลผลิตไข่ได้หรือไม่ ถ้าให้ผลผลิตดีอนาคตปลาชนิดนี้จะเป็นปลาเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากสภาพปัจจุบันตลาดต้องการสูง แม้ในประเทศไทยเองก็มีการนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในบางห้างสรรพสินค้า รวมถึงรายการอาหารเด็ดในโรงแรมขนาดใหญ่ ผมอยากให้เข้าใจครับว่า ไข่ปลาสเตอร์เจียนเรียกว่า คาร์เวียร์อย่างเดียว ถ้ามีคำอื่นนำหน้าไม่ใช่ไข่ปลาสเตอร์เจียนนะครับ อย่างเรดคาร์เวียร์ เป็นไข่ปลาเรนโบว์เทราท์ หรือปลาสายรุ้ง ที่นำมาแปรรูปเพื่อถนอมอาหาร จึงเรียกว่า เรดคาร์เวียร์ครับ" ประสานกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากกรมประมงซึ่งร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงสามารถพัฒนาวิจัยและเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนประสบผลสำเร็จ จะทำให้ในอนาคตปลาสเตอร์เจียนเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่จะให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ และจะเป็นการลดการนำเข้าไข่ปลาคาร์เวียร์ได้ในระดับหนึ่งด้วยหากใครสนใจอยากดูการเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน ชิมปลาเรนโบว์เทราท์ที่โครงการหลวงอินทนนท์ โต๊ะข่าวเกษตร/ทำมาหากิน "คม ชัด ลึก" จะจัดโครงการเกษตรทัศนศึกษาไปงานด้านการเกษตรบนที่สูงที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 5-7 ธันวาคมนี้ และจะได้ชิมปลาเรนโบว์เทราท์ราคา กก.ละกว่า 400 บาทด้วย สอบถามได้ที่ 0-2338-3356-7 รับจำนวนจำกัด
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 20 พฤศจิกายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/11/20/x_agi_b001_232150.php?news_id=232150