กล้วยหอมทองปลอดสารพิษ กับก้าวย่างมาตรฐานสินค้าอย่างมั่นคง
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 51
กล้วยหอมทองปลอดสารพิษ กับก้าวย่างมาตรฐานสินค้าอย่างมั่นคง
"กล้วยหอมทอง” เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการส่งออก โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสูง ด้วยคุณลักษณะของกล้วยหอมทองพันธุ์แท้ที่มีน้ำหนักมาก และลักษณะของกล้วยแต่ละลูกที่เรียงตัวกันอยู่ในหวีอย่างสวยงาม สีสวย รสชาติดี มีกลิ่นหอม น่ารับประทาน อีกทั้งผลผลิตของไทยมีความปลอดภัย ไร้สารเคมีและสารพิษตกค้างปนเปื้อน ทำให้กล้วยหอมทองของไทยได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งนับวันแนวโน้มความต้องการของตลาดยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
กล้วยหอมทองที่ปลูกในประเทศไทย ลักษณะทั่วไปของกล้วยหอมทองจะมีลำต้นสูง 2.5- 3.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 20 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประดำ ด้านในสีเขียวอ่อน และมีเส้นลายสีชมพู ก้านใบมีร่องค่อนข้างกว้าง และมีปีก เส้นกลางใบสีเขียว ส่วนของดอก ก้านเครือมีขน ปลีรูปไข่ ค่อนข้างยาว ปลายแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง ด้านในสีแดงซีด กล้วยเครือหนึ่งมี 4-6 หวี หวีหนึ่งมี 12-16 ผล ผลกว้าง 3-4 เซนติเมตร และ ยาว 21-25 เซนติเมตร ปลายผลมีจุกเห็นชัด เปลือกบาง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง แต่ที่ปลายจุกจะมีสีเขียว แล้วเปลี่ยนสีภายหลัง เนื้อสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอม รสหวาน
ประเทศไทยมีการส่งออกกล้วยกับคู่ค้าอย่างประเทศญี่ปุ่นมากว่าสิบปี ซึ่งคนญี่ปุ่นเองนิยมบริโภคกล้วยหอมจากประเทศไทยมากกว่ากล้วยจากประเทศอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์และโคลอมเบีย ที่มีการส่งออกกล้วยไปญี่ปุ่นเหมือนกัน เนื่องจากกล้วยหอมของไทยมีรสชาติหอมหวาน เปลือกบาง เนื้อไม่เหนียว จึงทำให้สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่ากล้วยจากประเทศคู่แข่ง แต่ไทยก็สามารถส่งออกได้เพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้ความต้องการนำเข้ากล้วยหอมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้ามากถึงปีละ 1 ล้านตัน จากความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้นทำให้ ประเทศไทยต้องมีการเพิ่มฐานการผลิต โดยเพิ่มพื้นที่การปลูกกล้วยให้มากขึ้น แต่ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเป็นไปได้อย่างล่าช้า
นายจิตรกร สามประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลการส่งเสริมการผลิตกล้วยหอมทองของสหกรณ์ในประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การส่งกล้วยหอมทองไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น ผ่านช่องทางของสหกรณ์ผู้ผลิตในประเทศไทย ถึงสหกรณ์ผู้บริโภคที่ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นจุดกำเนิดของความร่วมมือในการซื้อขายผลผลิตกันระหว่างสหกรณ์ของทั้งสองประเทศในยุคแรก ๆ เรื่องของสหกรณ์ เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกด้าน เป็นหลักข้อที่ 6 ของสหกรณ์ ที่สหกรณ์ทั่วโลกยึดถือ ความร่วมมือกันจึงไม่เฉพาะแต่เรื่องของธุรกิจ แต่รวมถึงด้านวิชาการทางการเกษตรด้วย จากความร่วมมือกันดังกล่าว ทำให้สหกรณ์ของไทยต้องปรับปรุงศักยภาพการผลิต เนื่องจากบ้านเราส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมีในการปลูกพืชผัก เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง โดยไม่มีการควบคุม ทุกพื้นที่จึงมีแต่สารเคมีเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นในการปลูกกล้วยหอมเพื่อส่งออกไปยังญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่น จะส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด ถึงแม้ทางญี่ปุ่นต้องการกล้วยหอมจากไทยเยอะมาก แต่เราไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้ทันต่อความต้องการของเขาได้ เนื่องจาก ไม่ค่อยมีใครอยากทำเพราะว่าขั้นตอนการปลูก การผลิตเขาจะเข้มงวด ตั้งแต่การเตรียมดิน ขั้นตอนการปลูก การขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าดินไม่ปลอดสารเคมีทางญี่ปุ่นก็จะไม่รับซื้อผลผลิต เกษตรกรของไทยจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิทยาการด้านการเกษตร และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยของประเทศญี่ปุ่นจากความร่วมมือในครั้งนี้
“การที่จะทำให้ดินไม่มีสารเคมีก็ต้องไม่เพิ่มเติมสารเคมีอะไรลงไป ปล่อยให้ชะล้างโดยธรรมชาติประมาณ 3-5 ปีกว่าจะหมด กว่าจะขยาย พื้นที่เพาะปลูกได้ต้องใช้เวลานาน นี่คือปัญหาอย่างหนึ่งในการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมทองของไทย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ได้เริ่มจัดตั้งองค์กรส่งเสริม การสหกรณ์กับชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคซูโตเคน ตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีสมาชิกที่ปลูกกล้วยหอมทอง จำนวน 124 ราย เฉลี่ยปลูกรายละ 2-5 ไร่ ส่งกล้วยหอมทองให้ญี่ปุ่นสัปดาห์ละ 12 ตัน โดยในปี 2550 ที่ผ่านมามีมูลค่าการค้า 5.15 ล้านบาท ผลผลิตกล้วยหอมทองที่ส่งไปประเทศญี่ปุ่น จะส่งเมื่อผลของกล้วยมีความสุกประมาณ 70% เมื่อไปถึงประเทศญี่ปุ่นก็จะสุกพอดีรับประทาน ในปีการผลิต 2551/2552 สหกรณ์ผู้บริโภคซูโตเคน มีความต้องการกล้วยหอมทองสัปดาห์ละ 13-16 ตัน โดยสหกรณ์มีการเตรียมแผนเพื่อขยายกำลังการผลิตสำหรับตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นแล้ว โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น พร้อมกับขยายพื้นที่เพาะปลูกอีกประมาณ 15 ไร่ต่อเดือน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=182973&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น