'ผลไม้ไทย' อาหารเพื่อสุขภาพและเภสัชโภชนภัณฑ์
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 51
'ผลไม้ไทย' อาหารเพื่อสุขภาพและเภสัชโภชนภัณฑ์
ประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ แต่เป็นที่สังเกตว่าข้อมูลทางด้านสุขภาพของผลไม้เหล่านี้มีจำกัด อีกทั้งยังไม่มีการเผยแพร่สู่ประชาชน อย่างกรณีของราชาผลไม้ไทยคือ “ทุเรียน” ได้มีการศึกษาเชิงลึกประโยชน์ในการบริโภคทุเรียนจะมีส่วนช่วยในการลดไขมันในเส้นเลือดในห้องปฏิบัติการและเมื่อนำมาทดลองกับหนูพบว่าในเนื้อทุเรียนมีสารโพลีฟีนอลและสารฟลาโวนอยด์ ในปริมาณสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ
ซึ่งสารทั้งสองชนิดดังกล่าวมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคในมนุษย์ได้ เมื่อบริโภคในสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น โรคมะเร็ง, โรคหัวใจ ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็พบว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าพันธุ์ชะนีและพันธุ์ก้านยาว นอกจากนั้นผลจากงานวิจัยยังพบว่าการบริโภคทุเรียนควรจะบริโภคที่ความสุกพอดีจะมีประสิทธิภาพในการต้านทานมากกว่าบริโภคทุเรียนดิบและทุเรียนที่สุกเกินไป (ทุเรียนปลาร้า)
อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นข้อมูลจากราชินีผลไม้ไทยคือ “มังคุด” ได้มีการต่อยอดแนวความคิดเรื่อง “การศึกษาสารสกัดสมุนไพรจากเปลือกมังคุดฆ่าเชื้อโรคได้” โดยนำมาผลิตเป็นผ้าปิดจมูกเส้นใยนาโนเคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุดและได้รับเลือกเป็น 1 ใน 6 ผลงานวิจัยดีเด่นด้านสิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ผ้าปิดจมูกเปลือกมังคุดนาโนนี้มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อวัณโรคในอากาศได้ถึง 99.99%
ปัจจุบันปัญหาทางด้านสุขภาพเกิดขึ้นกับมนุษย์ในทั่วทุกมุมโลก เช่น ปัญหาไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และที่ร้ายแรงที่สุดคือโรคมะเร็ง สำหรับบ้านเราในแต่ละปีรัฐบาลจะต้องเสียเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากในการรักษาผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าป้องกันการเกิดโรคได้จะเป็นวิธีการรักษาแบบยั่งยืนมากกว่า ดังนั้นมาตรการในการป้องกันคือ ควรจะส่งเสริมและเผยแพร่ให้ประชาชนทุกกลุ่มรู้จักในการเลือกบริโภคผลไม้ในกลุ่มที่เป็นประโยชน์ ผลไม้ไทยเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุและใยอาหาร ซึ่งมีข้อมูลเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการมานาน
ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้านผลไม้ (Fruit Science) ทำให้มีการค้นคว้าทดลองในเชิงสุขภาพของมนุษย์มากยิ่งขึ้น จากผลงานของนักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้มีข้อสรุปที่ตรงกันว่าสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และกลุ่มแครอทีนอยด์ (Carotenoid) มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่ดีและมีส่วนช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคได้จริง ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ทางคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มีการจัดประชุมเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง อนาคตผลไม้ไทย : อาหารสุขภาพ เภสัชโภชนภัณฑ์และการส่งออก
ผู้สนใจติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร โทร.0-2326-4112.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=183063&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น