หนี้สินเกษตรกร ปัญหาท้าทายที่รอการแก้ไข
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 51
หนี้สินเกษตรกร ปัญหาท้าทายที่รอการแก้ไข
ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาเรื้อรัง และนับวันปริมาณหนี้ได้ทับทวีเพิ่มพูนขึ้นอย่างน่าวิตก เกษตรกรมีภาระหนี้สินพอกพูนเพิ่มขึ้นทุกปี ในการแก้ปัญหาหนี้สินการเกษตรให้ลุล่วงต้องดำเนินการ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งต้องมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยสาเหตุของปัญหาหนี้สินการเกษตรเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านการผลิตจากการที่ต้นทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในด้านปัจจัยการผลิต และการใช้แรงงานจากเครื่องจักรทดแทนแรงคน รวมทั้งบางครั้งผลผลิตได้รับความเสียหายอันเนื่องจากภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวย หรือการเกิดภัย
นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร มาโดยตลอด ได้มีการผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร อาทิ ปัญหาหนี้ในระบบ ซึ่งเป็นหนี้ที่เกษตรกรเป็นหนี้กับหน่วยงานของรัฐหรือ องค์กรของรัฐ หรือเป็นหนี้ที่เกิดจากโครงการของรัฐ แต่โครงการนั้นประสบความล้มเหลวอันเนื่องมาจากความไม่เหมาะสมของโครงการ เช่น สภาพพื้นที่และปัจจัยการผลิตไม่เหมาะสม การถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่เพียงพอ หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น ภัยพิบัติ หรือภัยธรรมชาติ ทำให้การผลิตได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงและเป็นเหตุให้เกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ และ ปัญหาหนี้นอกระบบ
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ประกอบด้วย 2 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 การแก้ไขหนี้เกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 100,000 บาท ประมาณ 950,000 ครอบครัว หรือคิดเป็นมูลค่ารวมของหนี้ประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะดำเนินการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่มาชำระหนี้เงินกู้ แนวทางที่ 2 สนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับการลดภาระหนี้สามารถฟื้นฟูอาชีพเดิม ประกอบอาชีพเสริม หรือเปลี่ยนอาชีพใหม่ โดยกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจะทำหน้าที่ในการนำเสนอแผนฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรสมาชิก และเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการตามแผน ลักษณะการดำเนินการจะแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพตามความสมัครใจของเกษตรกรสมาชิก โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับการดำเนินการจัดตั้งกองทุนฯ ในการดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้เกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือจะต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์ภาคเกษตร อาทิ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง ส่วนสหกรณ์เครดิตยูเนียนเฉพาะสมาชิกที่กู้เงินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะต้องเป็นหนี้เงินกู้ก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2551 ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 100,000 บาท ต้องชำระหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด หรือบางส่วนให้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และต้องยืนยันว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูอาชีพ
ความเข้มแข็งของกลุ่มรากหญ้าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปได้อย่างแน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=183281&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น