เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 51
“ไหมเย็บแผล” ที่ใช้ในวงการแพทย์ สำหรับรักษาบาดแผลในร่างกายมนุษย์นั้น มักนำมาจากเส้นไหมตามธรรมชาติหรือตาข่ายสังเคราะห์
ปัจจุบันได้พัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง นายแรนดอล์ป เลวิส นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยไวโอมิง ได้นำ ใยแมงมุม เส้นใยที่เหนียวที่สุด ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถต้านการติดเชื้อ ห้ามเลือด และสมานแผล มาทำเป็นด้ายเย็บแผลไม่ทิ้งรอยแผลเป็น แต่ปัญหาก็คือวัตถุดิบหายากมาก
นักวิจัยยังค้นพบว่า ไคตินในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ซึ่งได้จากเปลือกกุ้ง สามารถนำมาทำไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ทั้งยังเข้ากันได้กับอวัยวะร่างกายทุกส่วนและรักษาแผล โดยปลดปล่อยสารยาอย่างช้าๆควบคุมการย่อยสลายของเอนไซม์
ล่าสุด รศ.นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คิดค้น เส้นใยสำหรับเย็บแผลจากแป้งข้าวเจ้า ชนิดย่อยสลายได้ ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ จนได้รับผลสำเร็จ
ด้วยปรัชญาว่า ข้าว คือ จิตวิญญาณของคนไทย วิธีการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทยนอกจากคุณค่าทางอาหารแล้ว ควร ปรุงแต่งให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีชั้นสูงต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ
จึงจุดประกายให้ทีมวิจัยทำ “โครงการวิจัยวัสดุเย็บแผลชนิดย่อยสลายได้ผลิตจากแป้งข้าวเจ้า” Absorbable Suture Made From Rice Starch ขึ้น โดยเริ่มจากการปรับปรุง สมบัติเชิงกลของแผ่นฟิล์มโพลิเมอร์แป้งข้าวเจ้าด้วยการผสมสารตัวช่วย ได้แก่ เจลาติน คาร์บอกซีเมทธิลเซลลูโลส และ ผงคาร์บอนขนาดนาโนเมตร ใช้วิธีบดโม่แบบสั่นสะเทือนเพื่อผลิต ผงนาโนคาร์บอนจากกะลามะพร้าว ซึ่งมีปริมาณมาก ราคาไม่แพงและมีความบริสุทธิ์สูง
สำหรับขั้นตอนการประดิษฐ์เป็นเส้นใย ได้แก่ การผสมวัตถุดิบในน้ำร้อนแล้วอบแห้งในเตาไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์สุดท้ายจะถูกตรวจวิเคราะห์สมบัติเชิงเคมี ฟิสิกส์ การจับถือ และชีววิทยา เมื่อทดสอบผลแสดงให้เห็นว่าข้าวเย็บแผลมีสมบัติที่เหมาะสมจะเป็นวัสดุเย็บ แผล สามารถคงรูปเมื่ออยู่ในน้ำ มีค่าแรงดึงยืดขนาดสูงข้าวเย็บแผลยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากการทดสอบความแกร่งทางแรงดึง แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเติมผงนาโน คาร์บอนสามารถช่วยปรับปรุง สมรรถภาพความทนทานน้ำและความแกร่งให้กับแผ่นฟิล์มโพลิเมอร์แป้งข้าวเจ้า พบว่าเส้นใยที่มี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม. สามารถยก ขวดบรรจุน้ำหนักมากกว่า 400 กรัม อีก ทั้งสีดำของผงนาโนคาร์บอนยังช่วยให้ศัลยแพทย์ สังเกตแยกแยะออกได้ง่ายขึ้น เมื่อต้อง ปะปนกับเลือดภายในเนื้อเยื่อระหว่างการผ่าตัดด้วย
รศ.นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ บอกเพิ่มเติมว่า ในขั้นตอนต่อไปใช้การบีบอัดและฉีดให้เป็นเส้นใย การติดเข้าเข็มเย็บ จากการทดสอบความเข้ากันได้ในสิ่ง มีชีวิตและการใช้งานจริงทางสัตว์ทดลองและทางคลินิก หากโครงการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลายจะส่งผลดีทั้งต่อวงการ วิทยาศาสตร์ วงการแพทย์ ตลอดจนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย
ผลงานวิจัย “วัสดุเย็บแผลชนิดย่อยสลายได้ผลิตจากแป้งข้าวเจ้า” นี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดบทความทางการแพทย์ ในหัวข้อ “นวัตกรรมใหม่ของไหมเย็บแผลแห่งโลกอนาคต” ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 ซึ่งจัดโดยบริษัทบี.บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด
และได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าไปประกวดระดับนานาชาติ ในหัวข้อ The Future of Sutures (FUSU) ณ สำนักงานใหญ่ของ Aesculap Academy กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ซึ่งคนไทยต้องส่งกำลังใจไปช่วยเชียร์กันหน่อย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=112583