ตั้ง 'ศูนย์เรียนรู้ยางฯ' ก่อนก้าวสู่ศูนย์กลางยางพาราแห่งอินโดจีน
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 51
ตั้ง 'ศูนย์เรียนรู้ยางฯ' ก่อนก้าวสู่ศูนย์กลางยางพาราแห่งอินโดจีน
แม้ว่ายางพาราราคาจะมีขึ้นมีลงซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด แต่ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สามารถทำรายได้โดยรวมให้ประเทศสูงมาก ปีละกว่า 3 แสนล้านบาท บางช่วงเวลาแม้ราคายางจะตกแต่บางช่วงก็เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนดีทำให้เกษตรกรหันมาปลูกยางมากขึ้นโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พื้นที่ปลูกยางพารากำลังขยายตัวค่อนข้างมาก ในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีการปลูกยางมากกว่าเวียดนามทั้งประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นศูนย์กลางยางพาราแห่งอินโดจีน
จากการที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้ประเมินศักยภาพการผลิตยางของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้วพบว่า มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางพาราและเป็นพื้นที่ที่สามารถให้ผลผลิตยางได้ภายใน 7 ปี โดยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพพอที่จะปลูกยางได้และให้ผลผลิตปานกลางระหว่าง 200-250 กิโลกรัม/ไร่/ปี ประมาณ 19,300,000 ไร่ ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพให้ผลผลิตมากกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่/ปี จำนวน 5,843,731 ไร่ กระจายอยู่ใน 19 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม ผู้ปลูกยางพาราทั้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล้วนเป็นเกษตรกรรายใหม่ที่ไม่เคยปลูกยางมาก่อนเลย จึงขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกและจัดการสวนยางอย่างถูกวิธี กระทรวงเกษตรฯจึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เร่งจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ยางพาราโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกร ขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ มีเป้าหมาย 8 ศูนย์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เกษตรกรใช้เป็นแหล่งเรียนรู้วิชาการยางที่ถูกต้องและครบวงจร ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม วิธีเลือกวัสดุปลูกที่ดี การเลือกใช้ยางพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกของตนเอง รวมถึงวิธีการปลูก การใช้ปุ๋ย และการดูแลรักษาให้ยางสามารถเปิดกรีดได้ภายใน 5 ปี
ปี 2552 กระทรวงเกษตรฯได้เตรียมแผนจัดทำโครงการบำรุงรักษาสวนยาง และการกรีดยางอย่างถูกวิธีเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการปลูกสร้างสวนยางและการกรีดยางอย่างถูกวิธี เพื่อให้ผู้ปลูกยางพารารายใหม่เป็นมืออาชีพอย่างเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ เป้าหมายไม่น้อยกว่า 68,400 ราย ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่มีสวนยางอยู่ในเกณฑ์เปิดกรีดได้ จำนวน 7,000 ราย
นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรตั้งศูนย์เรียนรู้ยางพาราโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือไปแล้ว 8 ศูนย์ คือที่ จังหวัดหนองคาย บุรีรัมย์ สกลนคร อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร เชียงราย และเชียงใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยมุ่งสร้างวิทยากรชุมชน และสร้างเกษตรกรมือใหม่ให้เป็นมืออาชีพด้านการผลิตยาง สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มปริมาณผลผลิต และมีรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ภายในศูนย์เรียนรู้ยางพาราฯมีการสร้างแปลงต้นแบบพันธุ์ยาง และการใช้เทคโนโลยียางที่เหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรได้เห็นตัวอย่างการปลูกสวนยางด้วยพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงการบริหารจัดการในแปลง การปลูกพืชแซมยาง การกรีดยาง และการดูแลรักษาหลังการกรีดด้วย ขณะเดียวกันยังเปิดให้เกษตรกรเข้าร่วม โครงการแปลงต้นแบบการปลูกสร้างสวนยาง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสวนเกษตรกร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้อีกด้วย
อนาคตคาดว่าจะเป็นแนวทางช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติในพื้นที่ปลูกยางใหม่ได้ ซึ่งจะผลักดันให้ไทยได้ผลผลิตยางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=183383&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น