เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 51
ฟาร์มสุกรที่เลี้ยงสุกรไม่ถึง 500 ตัว ที่ไม่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ในแต่ละวันจะมีมูลสุกรและของเสียจากการชะล้างเป็นจำนวนมาก และใช้วิธีปล่อยลงบ่อพักซึ่งส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนรอบข้าง ส่วนการจัดการกากตะกอนก็จะใช้วิธีตากแห้งแล้วทำเป็นปุ๋ย ขายได้เพียง 1 บาท/กก. ส่วนฟาร์มที่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพจะมีการจัดการน้ำเสียควบคู่กันไป แต่ในส่วนกากตะกอนก็จะถูกปล่อยลงพื้นที่ว่างเปล่า หรือหากนำไปขายเป็นปุ๋ยก็จะได้ในราคาถูกเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินโครงการศึกษาการใช้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานในเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด เพื่อเพิ่มมูลค่า และนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด
รศ.ดร.ธนากร วงศ์วัฒนาเสถียร แห่งภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้จัดการโครงการฯ เล่าว่า ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จากฟาร์มสุกรขนาดเล็กนำไปใช้ในการหุงต้มเพียง 1-2 ลบ.ม./วัน เท่านั้น แต่มีก๊าซส่วนที่เหลือ 3-4 ลบ.ม./วัน ทำให้ต้องปล่อยก๊าซที่เหลือทิ้ง ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก และส่งผลต่อภาวะโลกร้อนได้
ทางคณะวิจัย ได้ทำการออกแบบเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด และนำเครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่ เครื่องยนต์รถไถนาเดินตามมาดัดแปลงติดตั้งเครื่องยนต์ให้เป็นเครื่องต้นกำลัง และนำก๊าซชีวภาพที่เหลือใช้มาเป็นพลังงานร่วมกับน้ำมันดีเซล
"ผลการทดลองด้วยการนำกากตะกอนจากการผลิตก๊าซชีวภาพมาผลิตปุ๋ยอัดเม็ด โดยใช้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานร่วมกับน้ำมันดีเซล พบว่าการใช้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานร่วมกับน้ำมันดีเซล (เปิดวาล์ว 50%) ผลิตปุ๋ยอัดเม็ดได้ 190.98 กก./ชม. และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยมาก เพียง 0.00134 ลิตร/ปุ๋ย 1 กก. ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว จะผลิตปุ๋ยอัดเม็ดได้ 171.14 กก./ชม. และใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 0.00319 ลิตร/ปุ๋ย 1 กก."
หัวหน้าโครงการ ระบุว่า โดยสรุปแล้ว การผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดโดยนำก๊าซชีวภาพมาเป็นพลังงานร่วม ช่วยประหยัดน้ำมันดีเซลได้ 57.99% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ปุ๋ยที่ผลิตได้ก็เพิ่มมูลค่าจากเดิมขายได้เพียง 1 บาท/กก. ก็เพิ่มเป็น 5 บาท/กก. ขณะที่คุณสมบัติด้านธาตุอาหารของปุ๋ยดังกล่าว พบว่าอุดมไปด้วยธาตุอาหารพืช ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซึ่งนำไปใช้กับพืชไร่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ด้าน ดร.ไปรยา เฉยไสย ผู้ร่วมวิจัย ได้ประเมินความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ ว่าต้นทุนเครื่องผลิตปุ๋ยนั้นมีต้นทุนที่ 40,600 บาท ส่วนเครื่องยนต์ต้นกำลัง 33,000 บาท รวมต้นทุนทั้งหมด 73,600 บาท โดยหากเกษตรกรมีกำลังการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด 50 กก./วัน จะต้องขายราคา 15 บาท/กก. มีระยะเวลาคืนทุน 1.31 ปี หากขายปุ๋ยราคา 5 บาท/กก. จะคืนทุนในเวลา 2.71 ปี
ทั้งนี้ หากเกษตรกรรายใดที่มีเครื่องยนต์การเกษตรที่เป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังแล้วจะให้ผลคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องลงทุนเครื่องยนต์ เพียงแต่นำมาดัดแปลงและติดตั้งกับเครื่องผลิตปุ๋ยอัดเม็ดเท่านั้น
ขณะที่ จินตนา เหล่าฤชุพงศ์ หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีพลังงานก๊าซชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน บอกว่า กรมได้มอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษา วิจัย และทดลองโดยใช้เวลา 1 ปี ปัจจุบันการผลิตเครื่องปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดโดยใช้ก๊าซชีวภาพที่เหลือใช้เป็นพลังงานร่วมแล้วเสร็จ โดยมี "สังเวียนฟาร์ม" ที่ตั้งอยู่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นฟาร์มต้นแบบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/11/25/x_agi_b001_232942.php?news_id=232942